หมู่บ้านพะกอยวา ผึ้งขาวในราวป่า

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 01 เมษายน 2568

    ณ หมู่บ้านเล็กๆ บนตะเข็บชายแดนจังหวัดตากพี่น้องชาวปกาเกอะญอกลุ่มหนึ่งรวมตัวกัน พลิกฟื้นเขาหัวโล้นที่พวกเขาเคยปลูกข้าวโพด จนกลับมาเป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

    หมู่บ้านห้วยกระทิง อ.แม่ระมาด จ.ตาก หรือเรียกอีกชื่อตามภาษากะเหรี่ยงว่าหมู่บ้านพะกอยวา  พะ-กอย-วา แปลว่า ผึ้งขาวในราวป่า คนในหมู่บ้านนี้เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ  บรรพบุรุษของเขาได้อพยพมาปักหลัก ตั้งถิ่นฐานอยู่ตั้งแต่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน บนพื้นที่ในเทือกเขาพระวอที่มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง (634 เมตร) ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศให้พื้นที่บริเวณนี้ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

    ในการอยู่ร่วมกันของชุมชน ชาวบ้านมีการร่วมกันทำประชามติ กำหนดแนวเขตป่าชุมชน กำหนดกฎระเบียบในการใช้ป่าชุมชน และรักษาป่าร่วมกัน โดยชาวบ้านสามารถเข้าไปเก็บผลผลิตในป่าได้ เช่น หน่อไม้ (กำหนดเก็บเป็นช่วงฤดู เพื่อให้ป่ามีการฟื้นตัว) แต่ห้ามล่าสัตว์  

    หากเราเดินเข้าไปในป่าชุมชนแห่งนี้ราว 1 กิโลเมตร เราจะพบแหล่งน้ำธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ สวย สง่า ยืนเด่นตระการตา ท่ามกลางป่าเขียวขจี หากเรา ผู้เข้าเยือนที่แห่งนี้ ได้ลองเงียบเสียงลง ให้ความรู้สึกภายในจิตใจ ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง ฟังเสียงรอบๆ ตัวอย่างตั้งใจ เราจะได้ยินเสียงสายน้ำไหล ซ่าเซ็นกระทบหินผา เสียงนกและแมลงต่างๆ ร้องเพลง รวมถึงเสียงธรรมชาติของป่าเขาสนทนากัน ที่เรากำลังพูดถึงนี้คือ “น้ำตกห้วยกระทิง” แหล่งน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในหมู่บ้านแห่งนี้ แหล่งน้ำนี้จะไหลไปรวมกับลำน้ำอื่นๆ จนกลายเป็นลำห้วยแม่จะเรา ซึ่งเป็นสายน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชุมชนถึง 2 ตำบล

    ย้อนไปในปี 2552 เมื่อมีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติขุนพระวอ ทำให้เกิดการทับซ้อนกันขึ้นของพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่ทำกินของชาวบ้านห้วยกระทิง แม้ชาวบ้านจะมีระเบียบการรักษาป่าชุมชนอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการรักษาป่าในมุมมองของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จึงเกิดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้านกันเป็นประจำ และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ   

    จนกระทั่งชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมตัว ในปี 2556 ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตกะเหรี่ยง กระทรวงวัฒนธรรม และสภาคริสตจักร ได้เข้ามาช่วยจัดประชุมร่วมกับอุทยานฯ เพื่อหาแนวทางแก้ไขความขัดแย้ง โดยมีการกำหนดแนวเขตพื้นที่ โดยการวัดพื้นที่หมู่บ้าน ที่เป็นพื้นที่ป่า พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่ทำกิน และตั้งกฎการจัดการที่ดินของหมู่บ้าน

    ขณะเดียวกันกำนันวิทยา พันธ์ปัญญากรกุล กำนันในขณะนั้น มองว่า ถ้าไม่เปลี่ยนความคิดใหม่ ชาวบ้านในห้วยกระทิงจะอยู่กันไม่ได้ แต่การจะเปลี่ยนความคิดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องรวมตัวกันให้ได้และมีผู้นำที่ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นผล กำนันจึงเริ่มประชุมหารือกับชาวบ้าน และได้ตัดสินใจรวมกลุ่มกันไปเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ตามที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสอนไว้ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี มีผู้บุกเบิกในช่วงต้นจำนวน 4 ครอบครัว ใช้แนวทางที่ได้เรียนรู้ กลับมาทำโคก หนอง นา และปลูกพืชผสมผสาน เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติรอบพื้นที่ตนเอง เพราะเริ่มตระหนักได้ว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ตามกระแสทุนนิยมบนพื้นที่ขนาดใหญ่ ต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าหญ้าจำนวนมาก เป็นต้นเหตุทำให้ดินเสื่อมสภาพ เกิดหนี้สิน และยังเป็นอันตรายต่อชีวิต เกิดโรคภัยไข้เจ็บ แต่ถ้ากลับมาทำเกษตรผสมผสาน พื้นที่จะดีขึ้น ครอบครัวมีอาหารปลอดภัยกิน และมีเหลือสำหรับขายเพิ่มรายได้ภายในครัวเรือนอีกด้วย

    จากความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจในการช่วยกันทำพื้นที่ตัวอย่างของกลุ่ม การอดทนรอคอย ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่ต้องก้าวผ่าน อีกทั้งช่วยกันสื่อสารกับชาวบ้านในชุมชนเพื่อขยายผลออกไปในวงกว้างขึ้น ทำให้การขยายผลเป็นไปอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 4 ครอบครัว ขยายสู่ 17 ครอบครัว และ 50 ครอบครัว รวมถึงการขยายผลสู่โรงเรียนห้วยกระทิงด้วย จนถึงปัจจุบันก็เป็นระยะเวลากว่า 12 ปีแล้วที่คนในหมู่บ้านห้วยกระทิงดำเนินอยู่บนเส้นทางนี้

    การเปลี่ยนจากเขาหัวโล้นกลายเป็นเขาหัวจุก จากไร่ข้าวโพดกลายเป็นป่ากินได้  ของหมู่บ้านห้วยกระทิงนี้ ใช้เวลาในการทำ 4 ปีจึงเริ่มผลิดอกออกผล พื้นที่เริ่มกลับมาอุดมสมบูรณ์ มีผลิตผลให้ชาวบ้านได้เก็บกิน ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น หลายครอบครัว สามารถปลดหนี้ได้ และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม และในปี 2561 บ้านพะกอยวาได้กลายเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านพะกอยวา ศูนย์ฯ อบรมที่จะช่วยขยายผลแนวทาง “คนอยู่ป่าได้อย่างยั่งยืน” ให้กับชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงต่อไป

    เมื่อมาที่นี่ เราจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่ร่มรื่น สงบ เป็นธรรมชาติ ได้เห็นบรรยากาศของพื้นที่ป่าโดยรอบ ที่ไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าที่นี่เคยเป็นพื้นที่เขาหัวโล้นมาก่อน เห็นวิถีดั้งเดิมของพี่น้องชนเผ่าปกาเกอะญอ  วิถีการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า อีกทั้งยังจะได้สัมผัสกับอากาศที่ดี เย็นสบาย ธรรมชาติที่มีความหลากหลายเฉพาะตัว

    พวกเราได้แต่หวังให้ เรื่องราวอันงดงาม ณ สถานที่แห่งนี้ เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจเล็กๆ ให้กับผู้คนที่ได้มาเยือน ในการก้าวไปบนเส้นทางพอเพียงสายนี้ร่วมกันศาสตร์พระราชาที่ชาวพะกอยวาได้เรียนรู้และลงมือทำนี้ จะยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในชุมชม และได้รับการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ มากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการคลี่คลายปัญหาให้กับสังคมได้


    ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก ThaiPBS


    Writer

    ณฐ๑

    Photography

    พี่น้องชาวพึ่งตนเพื่อชาติ

    ความคิดเห็น