ปูทะเลย์อารยอาสา กับห้องเรียนเปลี่ยนโลก

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 09 มกราคม 2568

    ปูทะเลย์อารยอาสา ที่หมายถึงนักเรียน พี่เลี้ยง ครู ศิษย์เก่า ไปจนถึงผู้อำนวยการโรงเรียน พากันไปเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยกันฟื้นฟูป่าน่าน เป็นการเปิดห้องเรียน เปลี่ยนโลก ครั้งสำคัญที่หลายคนสะท้อนว่า นี่คือ “การกลับมาของห้องเรียนปูทะเลย์” อีกครั้ง

    เกือบ 30 วันที่ทีมปูทะเลย์อารยอาสา เข้าไปร่วมเรียนรู้กับชุมชนจังหวัดน่าน จากเหนือจรดใต้ เริ่มจากไปช่วยออกแบบระบบเกษตรกักตะกอนดินและน้ำ ให้กับพ่อๆ แม่ๆ ที่บ้านสบปืน ต.ห้วยโกร๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ได้มีโอกาสร่วมเปิดห้องเรียนเหนือฟ้ากับ “เครือข่ายจุฬาฝ่าพิบัติ” โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและระบบการคำนวณที่แม่นยำมาออกแบบพื้นที่ทั้งชุมชน งานนี้ได้รับความกรุณาจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ใจทิพย์ ณ สงขลา ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Platform และศาสตราจารย์.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ จากเพจมิตรเอิร์ธ มาให้ข้อมูลด้านภูมิสัณฐานของภูเขาและความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ดินโคลนถล่ม น้ำหลาก ด้วยการใช้ข้อมูลที่คำนวณมาแล้วอย่างแม่นยำ

    ทีมปูทะเลย์ตื่นเต้นกันมากที่จะได้เรียนผ่านระบบ Stream ของ Chula Disaster Solutions Network ที่ดูทันสมัยและล้ำ ล้ำขนาดที่เรียกได้ว่าเห็นทั้งรายละเอียดของลุ่มน้ำ เส้นทางน้ำ ทางน้ำไหลออกจากภูเขา ไปจนถึงพื้นที่เสี่ยงภัย แทบจะ จิ้มหลังคาบ้านได้เลยว่าบ้านไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย ยิ่งทั้งทีมปูทะเลย์เป็น FC เพจมิตรเอิร์ธด้วยแล้วยิ่งกลายเป็นวันนี้ที่รอคอย

    ก่อนหน้าวันจัดกิจกรรมเปิดห้องเรียนทดลองนี้ ทีมครูพี่อ๋อ-ณรงค์ฤทธิ์ บุญหนัก กับน้องเปี่ยม-เปี่ยมปิติ วงศ์มีมา และพี่แอน-กัลยารัตน์ กาญจนพังคะ พาน้องๆ ปูทะเลย์ไปตั้งเต็นท์ สร้างห้องเรียนที่สันเขาบ้านพ่อเกียรติ ขัตติ หนึ่งใน 5 เกษตรกรทีมบ้านสบปืนที่มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงวิถี เลิกการทำเกษตรเชิงเดี่ยวมากว่า 5 ปี ทั้งทีมมีกันอยู่ 5 คน เลยเป็นที่มาของฉายา “5 จอมยุทธ์แห่งบ้านสบปืน” บ้านของพ่อเกียรติอยู่ตรงสันหลังคาที่มีความกว้างประมาณ 25 เมตร เรียกว่าเหมือนอยู่บนสันเขาแหลม รับลมโชยตลอดและอากาศก็หนาวได้ใจ

    ความตั้งใจแรกคือต้องการเปิดห้องเรียนเพื่อจะได้เรียนรู้ว่าในแต่ละจุดที่เราลงไปสร้างห้องเรียนฟื้นป่าน่านนั้น หากผืนป่าคืนมาจะช่วยป้องกันไม่ให้ดินโคลนไหลหลากลงไปด้านล่างได้แค่ไหน เพื่อให้พลังและทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดได้เกิดประโยชน์มากที่สุด เรียกได้ว่า โฟกัส “เล็ก แคบ ชัด” กันจริงๆ 

    ใกล้ถึงเวลาเปิดห้องเรียนออนไลน์ พ่อ แม่ และทีมปูทะเลย์เข้ามารวมกันพร้อมเรียน บรรยากาศตื่นเต้นสุดๆ ทีมพี่บอย กับน้องบูเก้ ไปสแตนบายอยู่แถวแทงก์น้ำด้านหลังโรงเรียนบ้านสบปืน จุดที่ชาวบ้านแจ้งว่าพบสัญญาณอันตรายแผ่นดินแยก เกรงว่าจะถล่มลงมาทับบ้านที่อยู่ด้านล่าง และอีกปัญหาคือขาดแคลนน้ำ มีแทงก์ไม่มีน้ำ ชาวบ้านต้องซื้อน้ำกิน น้ำใช้ทุกหน้าแล้ง หมดเงินบ้านละกว่า 20,000 บาท รวมทั้งหมู่บ้านสบปืนก็หลายแสน ทีมงานเลยตั้งใจว่าจะเอาทุกปัญหามารวมกัน ถามครูบาอาจารย์ ท่านผู้รู้ให้กำหนดตำแหน่งและประเมินความเสี่ยงให้

    ผลของการเปิดห้องเรียนเหนือฟ้า ... Ground to Cloud มันส่งผลมากกว่าที่เราคิด 

    หนึ่งเลย เราทุกคนได้เรียนรู้ว่า สันเขาที่เราอยู่นั้นมันพิเศษ พื้นที่บ้านสบปืนทั้งหมดย้อนไปนับล้านปีเป็นจุดที่แผ่นเปลือกโลกมาเบียดชนกัน ทำให้เราพบสัณฐานหินที่มีรูปทรงแบบแปลกๆ เหมือนโดนบดบี้ทับกันไปมา และนั่นเป็นเหตุให้มันสามารถพังทลายได้ง่าย 

    สองคือ หากมองจากสันเขาที่เราอยู่จะเห็นว่า ภูเขาแถวนั้นมีความแปลกแตกต่าง คือแทนที่จะโค้งมนเหมือนซาลาเปา กลับโค้งเว้าเหมือนกระทะ อ.เอก หรือ ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ให้ความรู้พวกเราว่า ลักษณะแบบนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า “น้ำแทง” ก็คือน้ำที่ไหลหลากลงจากสันเขาจะกระแทกแรง ก่อให้เกิดการกัดเซาะรุนแรงมาก และมีสิทธิ์ที่จะเกิดน้ำหลากได้ง่าย

    สามคือ จุดที่ชุมชนห่วงกันว่าเกิดรอยแตกบนภูเขาหลังโรงเรียนนั้น เนื่องจากด้านบนเขามีพื้นที่รับน้ำน้อย มีโอกาสเสี่ยงดินโคลนถล่มจริง แต่จะไม่มากเหมือนที่เคยเกิดเหตุที่แม่สาย หรือที่อื่นๆ บ้านที่เสี่ยงคือ บ้าน 4-5 หลังด้านล่าง ก็ต้องติดตามและเฝ้าระวัง 

    สี่ จุดที่เราเลือกทำต้นแบบเกษตรกักตะกอนดินและน้ำนั้น เป็นจุดสำคัญที่ถ้าทำดีก็ส่งผลต่อหมู่บ้านด้านล่างแน่ๆ แต่ถ้าทำอะไรด้านบนที่ไม่ดี ผลก็กระทบลงไปที่โรงเรียนและหมู่บ้านตรงๆ 

    ห้า...สำคัญที่สุดและเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด คือเหนือหมู่บ้านสบปืน มีลานรับน้ำขนาดใหญ่ที่มีสายน้ำหลายสายไหลมารวมกันและพุ่งตรงเข้าหมู่บ้าน ...ลานเหล่านั้นเป็นไร่ข้าวโพดที่ทำกินหลักของชุมชน และส่งผลโดยตรงกับหมู่บ้านร้อยกว่าหลังคาเรือน ถ้าน้ำหลากแรงเสี่ยงที่จะล้นจากเส้นทางน้ำและตัดตรงเข้าหมู่บ้าน เข้าโรงเรียนในระดับที่คาดการณ์ไม่ได้ อาจารย์ย้ำว่า คำว่า “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ใช้ไม่ได้กับสภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ฝนที่ตกเปลี่ยนแปลงไป และสถานการณ์ที่พบที่เชียงรายทำให้เรารู้ว่า ความรู้ที่เรามี สิ่งที่เราเคยเห็น ไม่ใช่ทั้งหมดที่เราจะต้องเจอต่อจากนี้

    ห้องเรียนใหม่วันนี้ จึงให้คำตอบที่เราตามหา และบอกความจริงกับเราว่า เหตุและผลกระทบนั้นไม่ได้หมายถึงจุดที่ห่างไกลอย่างต้นน้ำกับปลายน้ำ หากแต่เป็นผลกระทบต่อหมู่บ้าน และโรงเรียนของพ่อๆ แม่ๆ เองโดยตรง 

    บรรยากาศห้องเรียนในวันนั้นแม้ว่าจะสนุกสนาน ตื่นเต้น แต่หลังจากข้อมูลและความเป็นจริงได้ถูกถ่ายทอดออกมา มวลความกังวลใจหนักหนาก็ถาโถม มีบางอย่างวิ่งวนอยู่ในใจ จางๆ คล้ายสายหมอกแต่ก็ทำให้แสบตาได้ราวควันฟืน 

    ก่อนจากลา พ่อ แม่ ส่งยิ้มให้กับพวกเราอย่างอบอุ่น และนัดหมายมาเจอกันที่งานวันดินโลกมาบเอื้อง 7-8 ธันวาคมเพื่อที่จะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง

    ...ทุกข์นั้นก็เหมือนหมอก มาเยี่ยมเยือนยามเช้า เบาบางและหายไปในยามสาย แค่เพียงเดินต่อไปด้วยกันก็เพียงพอ บางทีความพอเพียงก็ไม่ได้หมายถึงพอมี พอกิน แต่หมายถึงคำว่า “พอ” แค่คำว่าพอก็พอแล้ว... 

    ในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ เราคงต้านทานความหนักหนาของภัยพิบัติที่กำลังก่อตัวขึ้นได้ยาก แต่การเดินทางก็ไม่เคยหยุดนิ่ง ทุกสิ่งสอนเราให้เปิดรับ ปรับตัวและปล่อยวาง 

    ...เต็มที่แล้ว เพียรเต็มที่แล้วก็พอ พัก พรุ่งนี้ก็เริ่มอย่างเต็มที่ใหม่ตราบที่หัวใจไม่หยุดเดิน +


    เขียน – นาโน

    ภาพ – ทีมสื่อ


    ความคิดเห็น