ผลที่น่าภาคภูมิ Youth and Creation Care การขยายผลลดโลกร้อนศิษย์พึ่งตนฯ

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 11 กันยายน 2567

    จากการได้เข้าร่วมอบรมโครงการพึ่งตนเพื่อชาติ รุ่น 4 ในปลายปี พ.ศ. 2563 ของดร.หนุ่มชาวปกาเกอะญอ ดร.ชิ ตฤณธวัช ธุระวร ทำให้เขามีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะกลับไปทำพื้นที่ของตนที่ จ. เชียงรายให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความฝันที่อยากจะขยายผลสิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านี้ไปสู่ญาติพี่น้องและชุมชมโดยรอบ

    แต่ความฝันที่จะขยายผลให้ชุมชนรอบข้างของเขาเป็นป่า เพาะปลูกแบบปลอดสารเคมี มีอันต้องสลายไป เพราะชุมชนรอบข้างไม่เอาด้วยกับความคิดของเขา เขาจึงเบนทิศ ขยับความคิด ที่จะขยายผลไปสู่พี่น้องชนเผ่าที่อยู่ในพื้นที่อื่นๆ แทนอย่างไม่ย่อท้อ ประจวบเหมาะกับในปี พ.ศ. 2564 - 2565 มีโครงการ “อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ด้วย โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาปฏิรูปสถานศึกษา โรงเรียนนำร่องรุ่นที่ 1 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เกิดขึ้น ทำให้เขาได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ในฐานะครูปฏิบัติการของโรงเรียนบ้านปางมะหัน จังหวัดเชียงรายร่วมกับอาจารย์ณัฐพงษ์ มณีกร


    เขาจึงใช้โอกาสการลงพื้นที่ ให้ความรู้และฝึกปฏิบัติกับทางโรงเรียน เข้าไปฝังตัวใช้ชีวิต กิน นอน อยู่กับพี่น้องชนเผ่าลาหู่ในชุมชนนี้เป็นเวลาเกือบปี เพื่อให้พี่น้องในชุมชม วางใจ และเปิดใจให้กับเขาทีละน้อย รับองค์ความรู้ที่เขานำมาให้ ในเรื่องการการดูแลป่า การจัดการพื้นที่ การพึ่งพาตนเอง และอื่นๆ เนื่องจากวิถีชีวิตของพี่น้องลาหู่ที่เห็นในช่วงเวลานั้น ไม่ได้พึ่งพาตนเลยแม้แต่น้อย แต่ละครอบครัวจะพึ่งพารถพุ่มพวงที่ขับเข้าหมู่บ้านมาในทุกๆ เย็น เพื่อซื้อพืชผักต่างๆ แม้กระทั่งผักสวนครัวเล็กๆ น้อยๆ ล้วนซื้อจากรถพุ่มพวงนี้ทั้งสิ้น อีกทั้งการทำนา ทำไร่ชา ก็ยังพึ่งพาการใช้สารเคมีเป็นหลัก

    เขาใช้เวลาในการบ่มเพาะเมล็ดพันธ์แห่งการพึ่งตน ไม่ใจร้อน ค่อยๆ รดน้ำพรวนดิน รอเวลาเมล็ดพันธ์เติบโต โดยติดตามผลงานเป็นระยะ ร่วมกับแกนนำเยาวชนในพื้นที่ จนปัจจุบันเราได้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของพี่น้องลาหู่ในชุมชนนี้ โดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองหรือทัศนคติในการพึ่งพาตนเอง การหันมาปลูกพืชผักสวนครัวหลังบ้าน การทำนาทำไร่ที่ไม่พึ่งพิงสารเคมี การดูแลและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตที่ได้ของตนเอง รวมไปถึงการรักษา สืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนเผ่า เช่น การสร้างบ้านภูมิปัญญาแบบลาหู่ดั้งเดิมเอาไว้ให้เยาวชนได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ กระทั่งมีน้องๆ แกนนำและเยาวชนเริ่มสนใจเข้ามาร่วมขับเคลื่อนกันจนเป็นรูปธรรม

    และคลิปวีดีโอข้างล่างนี้ คือตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น.....อดภูมิใจกับดร.หนุ่มชาวปกาเกอะญอของเราไม่ได้จริงๆ

    ขอบคุณคลิปวีดีโอจากมูลนิธิดรุณาทร

    ความคิดเห็น