เข้าป่าร้อยเอ็ดเจอของเด็ดเข้าแล้ว

    ป๊อกกี้

    เผยแพร่ 23 กรกฎาคม 2567

    “เป็นการหาเห็ดที่ตื่นเต้นที่สุดเท่าที่เกิดมา ได้ CMS กันกลางป่าในเวลา 3 ทุ่ม”


    ”เย็นนี้ใครจะไปหาหอย ยกมือค่า ใครจะไปเก็บเห็ด ยกมือค่า“ เสียงถามเจื้อยแจ้วของน้องบูเก้ สิ้นเสียงเรารีบยกมือทันที ไปเก็บเห็ดด้วยจ้า … ใจฝันถึงดงเห็ดโคนที่ขึ้นบนดินที่สวนทุเรียน (นนท์) เมื่อครั้งสมัยเด็กๆ ตื่นเต้นทุกครั้งที่จะไปเก็บเห็ดโคนที่พากันขึ้นหนาตา เก็บแบบไม่หวาดไม่ไหวจริงๆ ผ่านมา 40 กว่าปี ความตื่นเต้นในการเก็บเห็ดก็ยังไม่จางหาย 


    หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจวันแรก เปิดห้องเรียน ชุมชน ”ยก ดีด ย้าย  ซ่อม สำรวจ สร้างเสริมออกแบบสุขศาลา ที่ตำบลศรีโคตร อ.จตุรพักตรพิมาน (ชื่อไพเราะมากกก) จ.ร้อยเอ็ดให้เป็นศาลาแห่งความสุขของทุกคน  ก็ได้ฤกษ์ขึ้นท้ายกระบะ นำทีมโดย พ่อทัย ผู้ใหญ่โก๋ เพื่อนๆ พ่อทัย น้องก้อย พี่พาชร ผู้ใหญ่บ้านหมู่อะไรนะจำไม่ได้ พี่บอย น้องบูเก้ และเราป๊อกกี้ รวม 9 ชีวิต มุ่งหน้าไปป่าชุมชน แถวหนองหน่องพัฒนา ห่างจากรพ.สต.อีโคตร ที่เราทำกิจกรรมประมาณ 10 กิโลเมตร (ใจก็นึกอีกล่ะ ที่นี่เค้าเก็บเห็ดกันตอนกลางคืนเหรอ ปกติเค้าเก็บกันตอนเช้ามั้ย?)


    อุปกรณ์พร้อม ตะกร้า 2 ใบ ไฟฉาย ยาทากันยุง เกงขายาว เสื้อแขนยาว หมวก มีด รองเท้าพร้อม ใส่รหัสกันซะหน่อย …3 2 1 หมาน หมาน เด้อ …… อ่ะ แปลว่าอะไรอะ พ่อทัยอธิบาย หมาน หมาน แปลว่าเยอะๆ เก็บเห็ดครั้งนี้ขอให้ได้เยอะเย้อะะะ … อ๋อ เข้าใจล่ะ


    ลุยยย !!! พ่อผู้ใหญ่เจ้าของพื้นที่เดินนำหน้า ลูกทีมเดินตาม ไฟฉายแบบสวมหัวหรือไฟส่องกบ ส่องกันเป็นระยะ แต่ระยะตรงเราไม่มี 555 เพราะไม่ได้เตรียม มีแต่ไฟจากมือถือนี่ล่ะ พอแก้ขัดไปได้ 

     พ่อทัยคะ ปกติชาวบ้านเค้าเก็บเห็ดกันกี่โมง … โอยเค้าเก็บกันทั้งวันแหละ … อ้าววว แล้วงี้จะเหลือมาถึงเรามั้ยอ่ะ … ก็มีแหละ 


    เดินมาถึงชายป่าประมาณ 500 เมตรเห็นจะได้ สัมผัสได้ถึงกลิ่นไอดินและใบไม้ชื้นของป่า เท้าเราแทบจะไม่ได้เหยียบดินเลย ไม่ใช่เพราะเหาะเหินได้นะคะ แต่พื้นเต็มไปด้วยใบไม้ที่ทับถมจนหนา เป็นแหล่งแร่ธาตุและจุลินทรีย์อย่างดี อย่างนี้แหละที่เห็ดชอบ 


    “พี่ป๊อกกี้มาดูนี่สิ” เสียงเรียกอันสูงปรี๊ดแกมดีใจของพี่ก้อย ทำเอาเราตื่นเต้นไปด้วย …ไหนๆ …ทางนี้ค่ะ … แป๊ปค่ะ ว้ายยยย โอ้ยย หนาม หนาม!!!! เถาหนามต้นใหญ่เกี่ยวเสื้อเข้าอย่างจัง ดีนะไม่โดนเนื้อ ถึงโดนก็ไม่เข้า น่าจะเหนียวระดับนึงค่ะ 


    เห็ดอะไรค่ะพี่ผู้ใหญ่ … เห็ดไค … เห็ดของใครค่ะ … ไม่ใช่ของใคร แต่ชื่อว่าเห็ดไค … อ๋อออ เปิดกูเกิลสิคะรอไร เห็ดไคหรือเห็ดไคล ดอกเหมือนหมวกกลมๆ มีกลิ่นหอมด้วย มีมากทางภาคเหนือและอีสานนี่เอง 


    เห็ดดอกต่อไปคือเห็ดหวาน หน้าตาคล้ายเห็ดตับเต่า จำได้ตอนเด็กๆ เวลาแม่ได้เห็ดตับเต่ามาจากสวนจะแกงเผ็ดหรือแกงขั่วให้กิน อร่อยล้ำเลยล่ะ แต่ก่อนที่จะแกงต้องล้างเห็ดให้สะอาดก่อน หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แม่จะแช่น้ำปูนใสก่อน แล้วค่อยเอาไปต้ม ตักทิ้งไว้ก่อน ระหว่างต้มเห็ด แม่ก็ให้โขลกน้ำพริกค่ะ กระเทียม หอม พริกแห้งแช่น้ำแล้ว เกลือ กะปิหน่อย ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด โขลกละเอียด ผัดกับหัวกะทิที่ขูดเอง คั่นเอง เคี่ยวให้หอม กะทิแตกมัน ใส่เห็ดที่ต้มแล้วลงไป แม่บอกไม่ต้องใส่หมูหรอก …ทำไมล่ะแม่ … ไม่มีตังค์ซื้อ ไปเอากุ้ง(แม่น้ำ)ในถังมาดีกว่า เพิ่งไปงมที่หน้ากะไดมาเมื่อเช้าตอนน้ำลง … ขอบอกว่าอร่อยคอดๆ (อ่ะมาเมนูอาหารได้งัยเนี่ย กลับเข้าเรื่องเถอะ555) 


    วนหาเห็ดกันสักพักฝนก็เทลงมา เทลงมา ให้เสื้อตูเปียก เสื้อตูเปี้ยก ทั้งแก้งค์เก็บเห็ดก็ไม่หวั่นค่ะ ยังมุ่งหน้าหาเห็ดกันต่อ ความหนาของใบกิ่งก้านของป่าช่วยบังฝนได้ดีทีเดียว 


    เสียง 3 สาว ป๊อกกี้ พี่อ้อยและน้องบูเก้ กรี๊ดกร๊าดทุกครั้งที่เจอเห็ด ยิ่งถ้าเจอดอกใหญ่ก็ร้องกันลั่นป่าล่ะค่ะ เจอจอมปลวกอันใหญ่มาก พ่อทัยปรี่เข้าไปดู แหนะ เจอเห็ดโคนเข้าแล้วค่ะ แต่ว่ายังละอ่อนอยู่เลย พรุ่งนี้น่าจะเก็บได้ 


    เดินแหวกกิ่ง แหวกหนามอยู่พักใหญ่ วนเวียนอยู่ในป่าแบบมืดๆ เจอบ้างไม่เจอบ้าง นี่ถ้าเป็นกลางวัน คงจะมองเห็นมากกว่านี้ บอกพ่อผู้ใหญ่กลับกันเถอะ สองทุ่มกว่าแล้ว พ่อผู้ใหญ่ผู้เป็นเจ้าถิ่นพาเดินกลับ … “มาๆๆทางนี้ครับ” เสียงเรียกของพ่อผู้ใหญ่ พวกเราที่กระจัดกระจาย ก็พยายามหาทางไปจุดนั้น แต่ต้องฝ่าดงหนามไปด้วย ก็มันมองไม่เห็นนี่ 


    อุ้ย !!! ต้องมุดรั้วลวดหนามด้วยเหรอ ตอนขามาไม่มีนี่นา พ่อพามาถูกทางป่ะเนี่ย เราพึ่งตนฯ คนเมือง ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่มันCMS ชัดๆ ” ลอดรั้วกันมาได้ทั้งร่างเล็กร่างใหญ่ ทะลุมาทางโล่ง อ่ะเป็นที่นาของใครเนี่ย …… เดินมาสัก 2 นาที พ่อพาเดินเข้าป่าอีกแหละ … พ่อคะ นี่ใช่ทางกลับบ้านแน่นะคะ เสียงพ่อตอบกลับมา “ตรงนี้มีเห็ด จะเอารึป่าวล่ะ” … เอาสิพ่อ ทางผ่านนี่คะ 


    “พี่ป๊อกกกกกกก เห็ดแดง สวยมากกกก เยอะด้วยค่ะ” พี่อ้อยส่งเสียงใสเรียกแบบตื่นเต้น  … สวยจริงๆ ด้วยค่ะ สีแดงเข้มปนบานเย็น ดอกมีกลิ่นหอมด้วย ได้มาสัก 20 ดอกได้มั้ง …เห็ดที่เจอใช่ว่าจะรู้จัก เจอดอกไหนคำถามแรกคือ กินได้มั้ย ชื่อว่าอะไร จะได้เก็บได้ถูกดอก เพราะที่เจอบางดอกก็กินไม่ได้ หรือไม่ควรเก็บหรือสัมผัส หรือเอามาดม  อาจถึงตายได้ (มีภาพปรากรอบด้วยค่า) 

    เจอต้นไม้หน้าตาแปลกๆ (สำหรับเรา) ต้นบุก ต้นหนามพุงดอ ต้นไม้บางต้นก็รู้จักแต่ส่วนใหญ่ไม่รู้จักค่ะ 55 พี่ๆ ก็บอกชื่อ แต่จำไม่ได้เลย มัวแต่หาเห็ด 


    ตลอดเส้นทางขากลับ พ่อพามุดรั้วลวดหนาม สลับเข้าป่าหาเห็ดประมาณ 4 -5 รอบ สนุกดีค่ะ แต่เชื่อเถอะพ่อไม่ได้พาหลง แต่พ่ออยากให้เราได้เห็ดหมาน หมาน ไหนๆก็มาเก็บกันแล้ว และพ่อยังพาเดินเข้าอีกทางออกอีกทางด้วย ได้สัมผัสเส้นทางที่แตกต่าง ได้มองพระจันทร์เสี้ยวลอดผ่านแมกไม้ ได้ฟังเสียงสัตว์เสียงแมลงคุยกัน (คงจะสงสัยล่ะว่านุดมาทำไรกันดึกๆ ) และที่สำคัญได้เห็นความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงของคนกับป่าได้เป็นอย่างดี 


    เห็ดครึ่งตะกร้าที่เราหิ้ว ยุบตัวเหลือเศษหนึ่งส่วนสี่ของตะกร้า เป็นผลมาจากการหิ้วแบบไม่ได้ทะนุถนอมเลย พามุดรั้ว เกี่ยวหนาม ใช้ตะกร้ากันกิ่งไม้ ฯลฯ ซึ่งถ้าเป็นนักเก็บเห็ดแล้วเขาจะค่อยถือดุดไข่ในหินเลยทีเดียว

    และนี่คือสารพัดเห็ดในป่าชุมชนแห่งนี้ อาจจะมีบางชนิดที่อยู่ในตะกร้าค่ะ เห็ดไข่ เห็ดไค เห็ดระโงกเห็ดหำพระ เห็ดแดง เห็ดถ่าน เห็ดหน้าแหล้ เห็ดเผาะ เห็ดผึ้ง เห็ดโคน เห็ดขี้เถ้า เห็ดเกีย เห็ดขี้ไก่เดียน เห็ดมันปู เห็ดแทด เห็ดทา เห็ดตีนแฮด เห็ดตีนจุ้ม เห็ดตับเต่า เห็ดกระด้าง เห็ดต่อป้อ เห็ดยูคา เห็ดเผิง  เห็ดดิน เห็ดดั้งหมู เห็ดถอน เห็ดหูหนู เห็ดตาโล่


    ป่าชุมชนที่นี่คือคลังอาหารหรือตู้เย็น ตู้กับข้าวขนาดใหญ่ ที่ช่วยหล่อเลี้ยงชีวิต ทั้งคน สัตว์น้อยใหญ่ หรือแม้กระทั่งต้นไม้ด้วยกันเอง ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่อยากจะคิดเลยว่าถ้าป่าแห่งนี้กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ลูกหลานในวันข้างหน้าจะได้มาเก็บเห็ดอย่างเรามั้ย 

     เสียงหรีดริ่งเรไรจะมีใครได้ยินบ้าง  เถาวัลย์คงจะกลายเป็นสายไฟพันเกี่ยวเสาไฟแรงสูงที่มาแทนที่ไม้ใหญ่ …… แต่นับจากนี้ มั่นใจว่าชาวตำบลศรีโคตรจะยังคงรักษาผืนป่าชุมชนแห่งนี้ไว้ให้ลูกหลานเหลนโหลนได้ใช้ประโยชน์และคงความยั่งยืนของตู้เย็นยักษ์แห่งนี้ได้ตลอดไปค่ะ 


    ความคิดเห็น