นักศึกษาคนแรกของมหาวิทยาลัยชายทะเล

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 19 กรกฎาคม 2567

    นักศึกษาคนแรกของมหาวิทยาลัยชายทะเล

        เส้นทางของชุมพรคาบานา และศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติเพลิน ได้ผ่านร้อนผ่านหนาว เรียนรู้ความผิดพลาด ล้มแล้วเริ่มต้นใหม่ ฝ่าพายุนับครั้งไม่ถ้วน ส่งทอดบทเรียนจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง

        จากบทเรียนของสองหนุ่มสาว สุขุมและอัจฉรา (หรือป้าโจ้) รักษ์พันธุ์ ที่มีความฝันจะสร้างธุรกิจแสนคลาสสิค

        ส่งทอดความฝันให้กับรุ่นลูกคือคุณวริสร รักษ์พันธุ์ ท่ามกลางเขี้ยวเล็บของ “นักล่า” แต่คำตอบสุดท้ายซึ่งเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์นั้น คือคำว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

        ป้าโจ้เคยพูดกับหลายคนด้วยความหวังว่า ตรงพื้นที่ของชุมพรคาบาน่า ซึ่งตั้งอยู่ริมหาดทุ่งวัวแล่น จ.ชุมพร ในยุคถัดไปนั้น มิใช่แต่อยากให้เป็นเพียงธุรกิจรีสอร์ทขายห้องพัก แต่อยากให้เป็นแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เป็นมหาวิทยาลัยชายทะเล เพื่อให้ความรู้และพัฒนาคน ที่ไม่ต้องมีสิ่งก่อสร้างตึกสูงเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป

        และความฝันนั้นก็ได้เริ่ม และส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป !

        “ภีม-ภีมกณิศ รักษ์พันธุ์” หลานคนเล็กของป้าโจ้ ทายาทหนึ่งในสองของคุณวริสร รักษ์พันธุ์

        ภีมเกิดมาดูท้องฟ้าเหนือชุมพรเมื่อยี่สิบปีก่อน เป็นช่วงหลังพายุเศรษฐกิจ ชื่อ “ไต้ฝุ่นต้มยำกุ้ง” ผ่านไปแล้ว แต่ได้ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้กับชุมพรคาบาน่า (และธุรกิจอื่นๆ ในประเทศนี้) อย่างสาหัส ในรูปของปัญหาการเงินจากหนี้สินที่คุณปู่ไปกู้ยืมสถาบันการเงินมา แม้ป้าโจ้และคุณวริสร จะเลือกรักษาชีวิตพนักงานและรักษาแผ่นดินหลายสิบไร่ผืนนั้นไว้ ด้วยหลัก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”

        ภีมเกิดที่ชุมพรแต่พ่อกับแม่ส่งเข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ ใช้ชีวิตวัยอนุบาลที่โรงเรียนทอสี ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกสำหรับเด็กเล็กแห่งแรก ช่วงวันหยุดจะมาพักอยู่กับคุณย่าและครอบครัว

        ภีม ซึ่งมีดีเอ็นเอของ “ย่าโจ้” ผู้ปลุกชีวิตให้ทุ่งวัวแล่น ใช้ชีวิตวัยเด็กอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอม กับต้นไม้ใบหญ้าและสิงสาราสัตว์ ในสวนป่าของชุมพรคาบาน่า

        เขามีความสุขในกรงไก่ ตั้งแต่วัยเด็ก มากกว่าอยู่ในกรอบของห้องเรียน อยู่กับไก่นับสิบทั้งวันอย่างไม่เบื่อหน่าย “วิชาไก่” คือวิชาชีวิต และเป็นวิทยานิพนธ์ของภีม

        เขาใช้ชีวิตเป็นนักเรียนน้อยในสวนกับ ครูสุโข หรือลุงโข คนสวนของชุมพรคาบาน่า ซึ่งมีนามีสวนมีฟาร์ม แต่ปลีกเวลามาช่วยงานของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติเพลิน บางครั้งบนเรือพายลำเล็กๆ ของลุงโขก็มีเด็กน้อยชื่อ “ภีม” ติดสอยห้อยตามไปหาปลาชายฝั่งด้วย

        ภีมไปเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย จึงห่างเหินชุมพรไปหลายปี ภีมไม่ชอบ “กรอบ” และ “กฎ” เขาจึงขอพ่อแม่ไม่เรียนต่อมัธยมที่นั่น แต่เลือกเรียนต่อในโรงเรียนทางเลือก เพราะไม่คิดว่าจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงเดินไปสมัครเรียนที่โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนทางเลือกแห่งแรกๆ ของเมืองไทย ค้นคว้าหาความรู้เอง เขียนใบสมัคร และไปสมัครด้วยตนเอง โดยรวบรวมพอร์ตฟูลิโอหรือสมุดบันทึกกิจกรรมชีวิตของตนเอง เป็นเรื่องราวการใช้ชีวิตในศูนย์ฯ เพลินของชุมพร คาบาน่า มีภาพตนเองเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เลี้ยงไก่ ปลูกต้นไม้ และร่วมกิจกรรมกสิกรรมธรรมชาติกับครูและอาสาสมัคร เพื่อนำเสนอครูผู้สัมภาษณ์ เขาเข้าไปเป็นนักเรียนของที่นั่นได้ไม่ยาก แต่ไม่กี่ปีก็ต้องพักการศึกษาเพราะความคิดอิสระเป็นตัวของตัวเองมากเกินไป

        ช่วงรอยต่อ ภีมได้เข้าร่วมกิจกรรม @save ชุมพร คาบาน่า ด้วยการปั่นจักรยานทางไกลกับพ่อ อาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติที่มาร่วมกันลงขัน ช่วยกันระดมทุน จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี มาจังหวัดชุมพร และไปใช้ชีวิตที่สวนพันพรรณของลุงโจน จันใด ที่เชียงใหม่ อยู่ระยะสั้นๆ เพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตในร่มเงาของธรรมชาติ ศึกษาการสร้างบ้านดินและหลักชีวิตที่เรียบง่ายพอเพียง

        สุดท้าย เขาตัดสินใจกลับเข้าเรียนที่โรงรียนรุ่งอรุณอีกสองปีจนจบการศึกษามัธยมปลาย

        ภีมไม่คิดจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบการศึกษาปกติ แต่ขอสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยชีวิตที่คลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก ขอพ่อแม่กลับมาอยู่ชุมพรคาบาน่า ใช้ชีวิตเพื่อเรียนรู้วิชาของศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติเพลิน ใช้ชีวิตในโรงเรียนชีวิตที่เขาออกแบบเอง 

        เรียนรู้และมีความสุขอยู่กับไก่นับร้อยๆ ในฟาร์ม เลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ออกเรือไปจับปลาทะเลน้ำตื้นกับลุงสุโข เรียนรู้เรื่องการทำไบโอดีเซล การทำน้ำหมักจุลินทรีจากพืชธรรมชาติสารพัดชนิดเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันและการเพาะปลูก เรียนการเผาถ่าน การปลูกต้นไม้ฯ

        เขาบอกว่าที่นี่ มีองค์ความรู้ให้เลือกเรียนมากมายมหาศาล มีคนเก่งๆ มีอาสาสมัครมาเป็นครูเพื่อที่เขาจะเก็บเกี่ยวความรู้ได้ไม่จบ “ที่นี่ไม่หมดมุข เรียนยังไงก็ไม่หมด”

        ภีมได้ออกทะเลกับพ่อและพี่ ๆ ครูสอนดำน้ำ เรียนรู้เรื่องการดำน้ำ ได้ศึกษาชีวิตใต้ท้องทะเลอย่างจริงจัง จนได้ขยับเป็นเป็นผู้ช่วยครูออกทริปกับคนที่มาเรียนดำน้ำบ่อย ๆ

        จากนั้นเขาได้เข้าอบรมหลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติที่ฐานธรรมสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เขาชื่นชอบการออกแบบพื้นที่ โคก หนอง นา ในการทำกสิกรรมธรรมชาติเป็นพิเศษ และตั้งใจนำกลับมาประยุกต์ใช้ที่ชุมพรคาบาน่า

        ภีมบอกว่า วิชากสิกรรมธรรมชาติ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งครอบครัวเดินตามมายาวนานนั้น เป็นแนวคิดที่ดีมาก เขาสะท้อนความคิดคนรุ่นใหม่ใน “เจน(Generation)” ของเขาว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่น่าจะชอบคำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ชอบคำว่าเกษตรทฤษฎีใหม่ ไม่ซาบซึ้งเพราะโตมาไม่ทันรู้จักหรือเห็นพระราชกรณียกิจและพระวิริยะอุตสาหะ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่เข้าใจคำสอนของท่าน

    ผมจึงลงมือทำให้ดู ลงมือทำให้เห็นก่อนเลยครับ ค่อยอธิบาย

        เมื่อกลับมาจากเชียงใหม่ ภีมเลือกเช่าพื้นที่ริมทะเลของย่าโจ้  เจรจาขอเช่าในราคามิตรภาพย่าหลาน ปรับปรุงห้องประชุมเก่าหลังเดิมของชุมพรคาบาน่า ออกแบบ คุมงานก่อสร้าง โดยมีพ่อและแม่หนุนหลังอยู่ห่างๆ

        ภีมวางแผนธุรกิจด้วยตนเอง เรียนรู้การทำการตลาด การตั้งราคาการขายการบริการ โดยมีคุณแม่ที่เคยดูแลชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท มาก่อนเป็นผู้ช่วย

        เขาออกแบบธุรกิจด้วยการ คิดใหญ่แต่ทำเล็ก ค่อยๆ เดินทีละก้าวกินข้าวทีละคำ ไม่รีบร้อน แค่ค่อยๆ ทำตามกำลังเงิน กำลังความสามารถ มีภูมิซึ่งเป็นพี่ชายช่วยด้านงานออกแบบระบบและตกแต่งภายใน ค่อยๆ เติมเงินเท่าที่มีตามหน้าตัก ไม่ได้ทำธุรกิจแบบลูกคนรวย แต่คิดวางแผนอย่างประหยัดรอบคอบ

        โฮมสเตย์มินิมอลสี่ห้อง ชื่อ มาแลเล (Ma Lae Lay Beach House) ค่อยๆ เติบโตไต่ระดับและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วภายในไม่กี่เดือน ติดอันดับที่พักที่มียอดจองห้องเต็มทุกสัปดาห์จนทุกวันนี้

        “มีที่นอนแล้วต้องมีที่กิน” ภีมหันมาช่วยพ่อฟื้นฟูร้านอาหารริมทะเลซึ่งทรุดโทรมลง เพื่อรองรับแขกของมาแลเล  

        เขาไม่ใช้สถาปนิกออกแบบ แต่คุมการก่อสร้างด้วยตนเองเพราะเชื่อว่าเป็นการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำแบบหนึ่ง การออกแบบและวิชาช่างจึงเป็นหนึ่งในวิชาที่เขาลงทะเบียน จนร้านอาหารของชุมพรคาบาน่าในยุคหลังฟื้นฟู สวยงามทันสมัยและเปิดดำเนินกิจการอีกครั้งในชื่อร้าน ยักษ์กะโจน สาขาชุมพรคาบาน่า ในเงาของ บริษัทธรรมธุรกิจ (วิสาหกิจเพื่อสังคม)

        อีกหนึ่งธุรกิจเล็กๆ ของภีม คือ ส่งไข่ไก่จากฟาร์มไก่ออแกนิค เป็นไข่ไก่อารมณ์ดีที่เขารักมาก เลี้ยงไว้ 500 ตัว ทั้งกินเองในบ้านและแจกเพื่อนบ้านแล้ว ยังมีเหลือขายในราคากันเองให้ครัวห้องอาหารของชุมพรคาบาน่า เป็นรายได้อีกทาง

        นี่คือวิชาธุรกิจที่เด็กหนุ่มช่างคิดฝันคนหนึ่งออกแบบหลักสูตรเอง ด้วยอายุเพียง 20 เขากลายเป็นนักธุรกิจเจ้าของกิจการ และเป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยชายทะเล ไปพร้อมกัน

        เป็นมากกว่าที่ “ย่าโจ้” คาดหวังไว้

        ภีมอาจจะเป็นความหวังของครอบครัว เป็นคลื่นลูกใหม่ของชุมพรคาบาน่าที่จะขับเคลื่อนโรงเรียนชีวิต ซึ่งจะพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยชายทะเลตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ พัฒนาที่ดินผืนแผ่นดินนี้ให้มีมูลค่าและคุณค่าต่อแผ่นดินไปพร้อมๆ กันอย่างสมดุล

        เป็นพื้นที่ที่ใครอยากมาใช้เพื่อการเรียนรู้ การปั้นดิน ปลูกผักหญ้า ปลูกป่า ทำกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลก็ได้ เป็นชุมชนพอเพียงในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม อย่างที่ “ย่าโจ้” และ “พ่อ” ของเขาหวังไว้    

        เพราะ “ที่นี่เป็นสมบัติของทุกคน” ภีมเน้นย้ำ

    เรื่องและภาพ Writer & Photography

    ธรรมศักดิ์ พึ่งตนเพียร


    ความคิดเห็น