“สุขศาลา Return”
“มาสุขศาลา ไม่ต้องไปหาหมอ”
เสียงบรรดาเจ้าหน้าที่ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ประกาศสโลแกนใหม่ของสุขศาลา ตำบลศรีโคตร อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด อย่างภาคภูมิใจ หลังจากที่ได้บอกเล่าเรื่องราวการคืนชีวิตให้ “สุขศาลา” หรือสถานีอนามัยในสมัยก่อนที่เป็นเรือนไม้ทรงโบราณให้กลายเป็นสถานที่รวมพลคนศรีโคตรได้อีกครั้ง
เรื่องราวของ “สุขศาลา” ที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน เพราะเกิดมาก็ได้ยินแต่ “สถานีอนามัย” ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแล้ว สุขศาลาเป็นความพยายามในการสร้างระบบการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนด้วยรูปแบบลูกผสมโดยมีทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านซึ่งเป็นคนในหมู่บ้านทำหน้าที่ช่วยกันดูแลสุขภาพของคนในชุมชน และโมเดล อสม. นี่แหละที่ทำให้เราเอาชนะโควิดมาได้
หลังยุคโควิดผ่านไปก็เกิดความพยายามในการพัฒนาแนวคิดเรื่องการเอาชีวิตรอดจากภัยพิบัติต่างๆ ด้วยการสร้างระบบชุมชนเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ เนื่องจากมีบทพิสูจน์ที่ชัดเจนแล้วว่าการจัดการชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ด้วยการสร้างระบบนิเวศใหม่ให้เหมาะสมกับครัวเรือนที่โดยส่วนมากเป็นเกษตรกร โดยใช้หลักทฤษฎีใหม่ด้านการจัดการน้ำ และการเกษตรหรือ “โคก หนอง นา” ผสมกับหลักกสิกรรมธรรมชาติ จนเกิดเป็นการจัดการระบบนิเวศย่อยด้วยความเข้าใจสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกับเรา ทั้งเจ้าตัวเล็กๆ ในดิน ที่มองเห็นและมองไม่เห็นอย่างจุลินทรีย์ เชื้อรา แบคทีเรีย ซึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องมีทั้งตัวดี ตัวร้าย ถ้าตัวร้ายเยอะไปก็จะไม่สมดุล ก็ต้องเติมเจ้าตัวดีลงไป และทำให้อุณหภูมิพอเหมาะอุ่นจากการห่มคลุมด้วยใบไม้ ฟาง เศษหญ้าเลียนแบบธรรมชาติ จนทำให้ดิน น้ำ และความชื้นพอเหมาะกับการที่สรรพสัตว์จะอาศัยอยู่ได้
แนวความคิดดังกล่าวสอดคล้องกับโครงการพระราชทานให้กับบ้านข้าราชบริพาร ในชื่อ “โคก หนอง นา ข้าราชบริพาร” ซึ่งพระราชทานให้กับข้าราชบริพารที่สนใจจะทำ โคก หนอง นา ที่บ้านตนเอง ก็จะมีทีมครูกสิกรรมจิตอาสา โคก หนอง นา ข้าราชบริพาร เข้าไปให้ความรู้ และชักชวนชุมชนโดยรอบมาร่วมเรียนรู้ หากสนใจก็จะได้ขยายไปในระดับอำเภอ จนเกิดเป็นที่มาของ “อำเภออารยเกษตร” 6 อำเภอนำร่อง หนึ่งในนั้นคืออำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด
เล่าที่มาที่ไปมายาวเหยียด ก็เพื่อจะบอกว่า การที่หนึ่งอำเภอจะลุกขึ้นมาสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น หน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น สาธารณสุขตำบล เทศบาล อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงโรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด และสถาบันศาสนาอื่นๆ เอกชน และสื่อมวลชน สำคัญที่สุดคือชาวบ้านต้องเอาด้วย ต้องมีใจที่จะทำเพื่อบ้านเกิดตัวเอง แล้วเมื่อนั้นวงล้อการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มหมุน เหมือนที่เกิดขึ้นที่สุขศาลาตำบลศรีโคตรที่เริ่มจากอำเภออารยเกษตร และตามหนุนเสริมจากเครือข่าย พึ่งตนเพื่อชาติ มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจในหลักคิดการพัฒนาพื้นที่ ที่เริ่มจาก “ความคิดของผู้คน” บนหลักปรัชญาของความพอเพียง ร่วมกับเทคนิคที่จะทำให้ดิน น้ำ ป่า กลับมาอุดมสมบูรณ์ พอเพียงที่จะเป็นแหล่งผลิตอาหารและสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ร่มเย็นให้กับผู้คนอีกครั้ง
หลังจากวันที่เกิดการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า ๖ อำเภอนำร่องอารยเกษตรจะพยายามค้นหาแนวทางที่จะทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขด้วยตัววัด 5 ด้าน ได้แก่ ปากท้อง-ปลดหนี้ สุขภาพ การศึกษา สิ่งแวดล้อมและยาเสพติดต้องควบคุมได้และเป็นไปในทิศทางที่ดี โดยเริ่มจากครอบครัวต้นแบบขยายสู่ชุมชน ตำบล และอำเภอ อำเภอจตุรพักตรพิมานก็เริ่มเดินหน้าโดยมีนายอำเภอหญิงเก่ง ร.ต.อ.หญิงอรุณี อินทรมณี ถือธงนำเดินทำความเข้าใจชุมชน หนุนเสริมทัพด้วยบ้านครูนามูนมังตายาย มหาสารคาม พ่อทัย (อุทัย สีดาแจ่ม) และแม่อร (อรอุมา ลีหล้าน้อย) พากันไปสร้างทีมดินเค็มร้อยเอ็ด เพื่อเกาะติดจนเกิดห้องเรียนฝึกฝีมือการเคลื่อนงาน ที่กำลังรอดูผลอย่างใจจดใจจ่อ นายอำเภอเองก็เคลื่อนร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คู่ขนานกันไป มีการทำโคก หนอง นา แปลงรวมที่สุขศาลา และทำแปลงรวมของแต่ละตำบล เพื่อมุ่งเน้นการลดจำนวนผู้ป่วย เบาหวาน ความดัน หัวใจ และสุขภาพกาย ใจ ของคนในชุมชนต้องดีขึ้น
ผลที่ได้มากกว่าที่คาด จากจุดเริ่มต้นที่จะทำ 2 เรื่องให้ชัดเจน หนึ่ง-ทดลองแก้ปัญหาดินเค็มตั้งเป้าไว้ที่ 3 ปี สอง-ทำแปลงผักรวมของชุมชน เพื่อให้ได้อาหารปลอดภัย กลายเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนศรีโคตรมารวมตัวกันทั้งผู้นำตามธรรมชาติ ผู้นำตามบทบาทหน้าที่ จนสามารถปักหลักทดลองเปิด “ตลาดสุขศาลา” ขึ้นในวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 กลายเป็นจุดพลิกที่ทำให้ภาพของอารยเกษตรชัดขึ้นแบบก้าวกระโดด
วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2567 นี้ ทีมพึ่งตนเพื่อชาติ ร่วมกับทีมสำนักการประกอบการทางสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ ที่คราวนี้ดึงเพื่อนสตูดิโออนุรักษ์เข้ามาร่วมกัน ปักหมุดออกแบบสุขศาลาใหม่ให้เหมาะกับกลุ่มที่จะเข้าไปใช้งานจริง โดยยังคงคุณค่าของอาคาร “สุขศาลา” อาคารเก่าที่คลาสสิคจากยุคก่อน และสะท้อนพัฒนาการของสาธารณสุขไทยให้กลายเป็น “ใจบ้าน” ในยุคปัจจุบัน
พวกเราจะเปิดห้องเรียนชุมชนหลายห้องมากใน 3 วัน วันแรกจะเป็นการนำนักเรียนและเยาวชนมาร่วมค้นหาคุณค่าของสุขศาลาด้วยหลักสูตรจริยศิลป์เคลื่อนชุมชน วันที่สองผู้ใหญ่โก๋ (ทัพเมฆ น้ำมนต์ดี) ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ตำบลศรีโคตร จะเปิดห้องเรียนดีดบ้าน และห้องเรียนช่างไม้แบบโบราณที่ไม่ใช้ตะปูเลย ทำให้ดูว่าเขาทำกันอย่างไร ส่วนทีมพึ่งตนเพื่อชาติ และทีมสำนักการประกอบการทางสังคมจะ “เดินอารยะ” เพื่อค้นหาคุณค่าและภูมิปัญญาของชุมชนร่วมกับเด็กๆ ทีมสตูดิโออนุรักษ์จะร่วมออกแบบ Function การใช้งานและการตกแต่งตามหลักการใช้งานโดยคงการออกแบบดั้งเดิมไว้ หลังจากนั้น วันสุดท้าย เราทุกคนจะนำจิ๊กซอว์มาประกอบกัน หวังว่าจะเกิดเป็นภาพแผนพัฒนาชุมชนระดับอำเภอ ที่เริ่มจากจุดรวมใจของผู้คนในพื้นที่โดยมี “สุขศาลา” เป็นใจบ้านผ่านกิจกรรม “ตลาดสุขศาลา” แล้วเชื่อมโยงจากตลาดสู่แหล่งที่มาของสินค้าในตลาด ซึ่งก็คือบ้านเรือนในชุมชน แปลงผลผลิตจากการแก้ไขดินเค็ม บ้านครูภูมิปัญญา และสถานที่น่าสนใจของย่านนั้น เตรียมพร้อมไว้สำหรับการจัด “อารยทริป” เพื่อเชื้อเชิญเพื่อนผู้ร่วมเส้นทางนี้เดินทางไปเยี่ยมเยือน “บ้านเรา” แผ่นดินของไทยในมุมที่ใครก็ไม่เคยมองเห็น ไม่ใช่เพราะสิ่งนั้นไม่เคยมีอยู่แต่เพราะเราไม่เคยมีโอกาสได้มองในมุมของคนที่หลากหลาย ประกายที่ปรากฏต่อสายตาจึงไม่เคยสะท้อนเข้าเหลี่ยมมุมที่ชัดเจน
เขียนมาชวนกันไปเยี่ยม ไปเยือน ไปเห็นความสนุกในเวลา 3 วันที่ผู้คนกว่า 200 คนมารวมกัน ยก-ดีด ย้าย ซ่อม ออกแบบ สำรวจสร้างเสริม “สุขศาลา” ของพวกเขาให้กลายเป็นใจบ้านของชุมชน เป็นครั้งแรกที่เราเปิดห้องเรียนชุมชนใหญ่ขนาดนี้ที่สำคัญทุกคนเต็มใจมาช่วยกัน ร่วมมือกันเพื่อบ้าน เพื่อเมืองของพวกเราเอง +
เรื่องเล่าจากนักปฏิบัติ ทีมดินเค็ม
ครูพี่นุ้ยเขียน
05.07.67