การเดินทางของลูกชาวนาไทอีสาน ตอนที่ 1: เรื่องจริงที่ไม่เคยคาดฝัน
ทีมอารยธาม
เผยแพร่ 16 มิถุนายน 2567 “สิได้ go inter แล้วเด้อออออ อาจารย์สิพาไปกรุงโรมพู้นน่ะ
แต่ไปได้คนเดียวเด้อ” พี่ภาพบอก ตอนไปเตรียมงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินครั้งล่าสุด
ในใจคิดว่าคนที่ต้องไปคือพ่อทัย เพราะอาจารย์ต้องไปทำงานดูพื้นที่ออกแบบพื้นที่แน่นอน
ความรู้สึกปกติไม่ได้คิดอะไรมาก
มารู้สึกตัวว่าสิ่งที่คิดไม่ใช่แล้ว เพราะอาจารย์
(อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) พูดถึงเรื่องเรียน
พูดถึงการทำงานที่เกี่ยวกับการขยายผลในชุมชน และสถานที่ที่จะไปคือ FAO (Food and Agriculture Organization) กระทั่งมีโอกาสได้บอกอาจารย์ว่า
“ให้พ่อทัยไป เพราะเป็นคนลงมือปฏิบัติมากกว่า เข้าใจพื้นที่มากกว่า อรได้แต่พูด”
และอาจารย์ตอบกลับมาว่า “จะพาคนไปพูด ไม่ได้พาคนไปทำ”
เริ่มตกใจ ลังเล ... ต้องไปจริงหรือ? (คำถามในใจ)
ทำไงดี ต้องเตรียมตัวยังไงน้อออออ ไม่เคยไปต่างประเทศเลย
แอบเช็คอุณหภูมิในกูเกิ้ล ^_^
สิ่งแรกที่คิดหากจะต้องไปคือจะต้องเอาผ้าไหมแม่ไปตัดชุด (จะเข้าธีมงานไหมน้อ)
อยากเตรียมตัวอย่างดินเค็มไปร่วมในงาน เตรียมแฝก พันธุ์ข้าวหอมมะลิ เมล็ดพันธุ์ผัก
ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิ ปลา ไปแบ่งปันในงาน
เมื่อได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ครั้งแรกร่วมกับคณะทั้งในไทยและทางอิตาลี
โอ้ว! มันไม่ง่ายเหมือนที่คิดเลย
การนำสิ่งของไปต่างประเทศมีข้อจำกัดหลายอย่าง
ต้องผ่านการตรวจสอบและมีใบรับรอง (ความรู้ใหม่) อาหารก็ต้องมีเชฟจัดเตรียม สิ่งของที่จะนำไปต้องแพ็คเรียบร้อยและมีมาตรฐาน
ประสบการเรียนรู้ต่างประเทศครั้งแรก เป็นโอกาสที่จะได้ทำหน้าที่ตัวแทน ในการแชร์เรื่องราวการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติมา ด้วยการน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ มาแก้ปัญหาดินเค็มในพื้นที่นามูนมังตายาย และขยายผลไปยัง ต.ศรีโคตร อ.จตุรพักตรพิมาน จ.ร้อยเอ็ด ไม่เคยคิดว่าสิ่งที่เราเพียรทำ และไม่ยอมล้มเลิก ทำด้วยใจศรัทธา ก้าวข้ามเสียงคัดค้านรอบข้างที่ไม่เห็นด้วย และสิ่งที่ยากกว่าคือการพัฒนาตนเองจากภายใน สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้เป็นเหมือนความฝัน ที่มีความท้าทายอย่างมาก ที่จะต้องบอกเล่าเรื่องราวในสถานที่ระดับโลกต่อสาธารณชนหลายเชื้อชาติ หลายประเทศ ที่มีความแตกต่างตั้งแต่ภาษาที่ใช้สิ่อสาร อาหาร อากาศ วัฒนธรรม
เราจะสื่อสารบอกเรื่องราวผ่านผ้าไหม ผ่านรสชาติของข้าวเหนียวที่ปลูกในนาดินเค็ม เพื่อยืนยันว่าหากเราบำรุง ดูแลพระแม่ธรณี ไม่ปอกเปลือกเปือยดิน ห่มดินด้วยวัสดุจากธรรมชาติ ใส่ปุ๋ยแห้งชามน้ำชาม ล้างความเค็มในดิน 8 ครั้ง ปลูกพืชที่เหมาะในพื้นที่ เพียงแค่นี้ทุกชีวิตก็สามารถรอดได้และมีอาหารดี มีน้ำใส มีอากาศที่บริสุทธิ์
และอยากบอกเล่าชักชวนให้ผู้ที่ร่วมในงานที่ FAO ตามมาหาคำตอบที่ประเทศไทยว่า
การที่จะหยุดโลกเดือดได้ คือการดูแลพระแม่ธรณีให้สมบูรณ์ ปลูกป่าสร้างแหล่งอาหารคือทางรอดไม่ใช่ทางเลือก
หลายคนถามว่าตื่นเต้นไหม? กับการไปครั้งแรก (ตกใจมากกว่าตื่นเต้น ณ.ปัจจุบันที่บ้านเรา)
ตื่นเต้นน่าจะเกิดขึ้น ตอนที่อยู่ FAO มือสั่น
พูดไม่ออก น้ำตาไหล หัวใจเต้นตุบๆๆ วินาทีนั้นน่าจะลืมสิ่งที่คิดไว้ในหัว
สิ่งที่เตรียมไปพูดอาจจะไม่ได้พูดแต่ในใจระลึกไว้เสมอว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด
*การไปต่างบ้านต่างเมือง
คงจะได้แต่ภาวนาถึงบุญคุณคุณบิดรมารดา ครูบาอาจารย์
คุณพระศรีรัตนไตยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย และรำลึกถึงพระมหากษัตรฺไทยทุกพระองค์ ที่ได้ทรงปกปักรักษาแผ่นดินไทยให้เป็นไทจวบจนทุกวันนี้
ให้ดลบันดาลช่วยลูกด้วย (ซ่อยข่อยแน้)
ความรู้สึก งง สับสน กังวล วนเวียนมาตลอด
จะต้องทำอะไรก่อนหลังแต่แล้วก็มีบุคคลที่เคารพรัก อาทิ
พี่ติ๊นา
ที่ติดต่อขอข้อมูลเริ่มต้นนามูนมังตายาย เพื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษ (แอบส่งข่าวปูม้าระบาดหนักในอิตาลี ชวนทำน้ำจิ้มซีฟูด แต่ในใจจับมาทำลาบใส่ข้าวคั่วคือสิแซ่บหลาย ^_^)
พี่แตงให้คำแนะนำการไปทำพลาสปอร์ต
พี่พีชประสานการเตรียมเอกสารเดินทางในขณะที่พี่แตงต้องไปทำงานที่เวียดนาม
พี่จูลติดต่อและช่วยเหลือการทำวีซ่า จดหมายรายงานตัว
พาไปทำวีซ่า (โอ้ว!ถ้าเข้าไปทำคนเดียวตายแน่ๆๆ)
หมอรุจและทีมสื่อที่ถ่ายทำคลิปทุกๆ สื่อ (สนุกสนานกับขบวนการแอดแวนเจอร์
น่าจะเป็นตัวสีเหลือง)
พี่เปิ้ลเสนอตัวขอช่วยดูแลเรื่องกระเป๋าเดินทาง รองเท้าคัชชู เสื้อกันหนาว
/ถุงมือ (พี่แอน)
น้องโอปอลช่วยดูลายสีผ้าไหม ออกแบบตัดชุด
ไทอีสานบ้านๆ ตัดเย็บด้วยช่างฝีมือดีที่โอปอลมั่นใจ
ขอขอบคุณทุกๆท่านที่กล่าวมาข้างต้นและขอขอบพระคุณผู้ใจดีทุกท่านให้การสนับสนุน ให้กำลังใจเสมอมา อาจารย์ยักษ์ พี่นุ้ย พี่ผึ้ง พี่มี้ พี่หญิงและอีกมากมายกับการเรียนรู้ใหม่ที่ท้าทายระดับโลก
โปรดติดตามตอนต่อไป
เรื่อง Writer
นามูน
ภาพ Photography
ทีมสื่อพึ่งตนเพื่อชาติและคณะเดินทาง