อารยทริปเกาะคิวชู
ตอนที่ 5 ก้าว...ที่กล้าหวนกลับ
ทีมอารยธาม
เผยแพร่ 09 มิถุนายน 2567อารยทริปเกาะคิวชู
ตอนที่ 5 ก้าว...ที่กล้าหวนกลับ
กระแสการไหลบ่าออกจากชนบทเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก
ผู้คนเดินตามกลิ่นความเจริญของเมืองใหญ่ที่พัดผ่านหมู่บ้านเข้าสู่เมืองเพื่อเผชิญหมอกควันของโชคชะตาชีวิต
บางคนก้าวข้ามแต่บางคนก้าวกลับ
กลับไปยังหมู่บ้านที่จากมาเพื่อค้นหาความจริงบางอย่างที่เมืองใหญ่ไม่เคยมีคำตอบ
ชนบทของญี่ปุ่น หนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งทิ้งเมืองกลับสู่บ้านเกิดเพื่อสร้างบางสิ่งที่เป็นคำตอบพื้นฐานของชีวิตทั้งอาหาร เสื้อผ้า บ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ที่สามารถทำเองได้หรือหยิบจับของเก่าโบราณมาปัดฝุ่นใช้งานยืดอายุ ลดการใช้ทรัพยากรโลก ผสานกันอย่างลงตัวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เชื่อมโยง กำกับ ควบคุม เข้าถึงและแม่นยำ
เราเห็นความพยายามในการรักษาเมืองเกษตรของรัฐบาลญี่ปุ่น
ผ่านโครงการรักษาและสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่จากฟาร์มหลายแห่งที่เราไปเยือน
ทั้งฟาร์มสตรอว์เบอร์รี่ ฟาร์มมะเขือเทศ ร้านค้าผลิตภัณฑ์การเกษตรของอำเภอ การรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์และศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
แต่ละที่แต่ละแห่งเราจะเห็นภาพของเกษตรกรผลิต จำหน่าย แปรรูป รวมกลุ่มบริหารจัดการด้วยตนเอง
ทั้งหมดนี้เกิดจากทุกภาคส่วนจับมือกันและรัฐบาลส่งเสริมเพื่อรักษาฐานการเกษตรที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของชาติเอาไว้
ฟาร์มมะเขือเทศโยทสึฮะ (Yotsuha Tomato Farm)
ที่ฟาร์มมะเขือเทศโยทสึฮะ เมืองคาโกชิม่า
เราพบคนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่รวมตัวกันทำในสิ่งที่สวนกระแส พวกเขาเปิดร้าน “428 kitchen menu” จำหน่ายอาหารคลีน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะเขือเทศ และผลมะเขือเทศสด ไปจนถึงข้าวของประดับบ้านแนวย้อนวันวาน
จาน ชามน่ารักๆ สไตล์ญี่ปุ่น และที่สร้างความประหลาดใจคือมีร้านทำเล็บเล็กๆ
อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
เจ้าของฟาร์มมะเขือเทศคือคุณโคจินะ เป็นอดีตตำรวจที่กล้าก้าวออกจากเส้นทางข้าราชการที่มีความมั่นคงสูงมาสู่การเป็นเกษตรกรเต็มตัวที่ต้องอยู่บนความไม่แน่นอนของฤดูกาล
เมื่อถามถึงเหตุผลของการเปลี่ยนวิถีชีวิตครั้งนี้ คุณโคจินะตอบว่า “วันที่คิดได้ว่าจะต้องอยู่ในอาชีพที่ต้องทำตามคำสั่ง
ฟังตามสายบังคับบัญชาตลอด ก็รู้สึกว่าไม่ใช่สิ่งที่อยากเป็น เลยทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วอะไรล่ะคือสิ่งที่เราอยากเป็น
ก็คิดได้ว่าของกินคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับคนที่มีชีวิตอยู่ ‘เกษตร’
จึงเป็นสิ่งสำคัญจึงเริ่มต้นที่จะทำการเกษตร”
จากชีวิตนายตำรวจจึงพลิกผันมาใช้ชีวิตในแปลงเกษตรแบบกึ่งเทคโนโลยี มีทั้งโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิที่ด้านหน้ามีกรงเลี้ยงไก่ปล่อยและพยายามหาพันธุ์ไม้ไล่แมลงแบบต่างๆ
ไปใช้ในโรงเรือนระบบปิดเพื่อลดการใช้เคมีเกษตร มะเขือเทศของคุณโคจินะ งอกงามดีและมีรสชาติอร่อย เขาส่งจำหน่ายตามศูนย์จำหน่ายผลผลิตการเกษตรของอำเภอ
และเปิดร้านอาหารเล็กๆ แห่งนี้ขึ้นมาร่วมกับเพื่อนเกษตรกรรุ่นใหม่
ความน่าสนุกของร้านนี้คือเมื่อมีลูกค้าสั่งอาหาร ทั้งเจ้าของร้านทำเล็บ เจ้าของร้านขายของที่ระลึก หนุ่มนักศึกษาที่มาฝึกงานในฟาร์ม จะรวมตัวกันเข้าครัวปรุงอาหาร เสิร์ฟอาหาร รับออเดอร์ เก็บเงิน และพูดคุยกับลูกค้าไปพร้อม ๆ กัน เมื่อมีคณะที่สนใจดูงานด้านการเกษตรอย่างทีมอารยธามเข้ามาเยี่ยมเยียน เราก็พบว่ามีเพื่อนเครือข่ายเกษตรกรเข้ามาร่วมพูดคุยแบบไม่ได้นัดหมายอีกคนสองคน เป็นการรวมกลุ่มให้กำลังใจและเกื้อหนุนกันที่น่าสนใจ
จากฟาร์มมะเขือเทศแบบรวมกลุ่มแยกกิจกรรมตามที่แต่ละคนถนัด เราพบอีกรูปแบบของการเกษตรคือการรวมแปลงเล็กเป็นแปลงใหญ่ โดยคุณโคบะ อิชิโกะ หนึ่งในผู้นำที่มีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้มีการรวมกลุ่มกันภายในพื้นที่ จนเกิดเป็นกลุ่มสหกรณ์ ยูเมะฟาร์ม (Yume Farm) แปลว่า ฟาร์มแห่งความฝัน ได้รับรางวัล Medal with Yellow Ribbon จากจักรพรรดิเฮกะ ว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถ ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการทางการเกษตร และเป็นผู้มีบทบาทพัฒนาการเกษตรในท้องถิ่นที่อยู่อาศัย
การรวมแปลงเล็กแปลงน้อยเข้าด้วยกันเป็นแปลงใหญ่ ทำให้สะดวกต่อการจัดการระบบน้ำและการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ทดแทนกำลังคนที่ทั้งหมดแรงและหมดใจ เป็นการเตรียมทางให้คนรุ่นใหม่สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น และกลับมาสู่ภาคการเกษตร สหกรณ์ยูเมะฟาร์มนี้ ได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่จังหวัดในการให้คำปรึกษาการเลือกพืชพันธุ์ การจัดสร้างพื้นที่ แล้วนำเสนอต่อระดับประเทศเพื่อของบประมาณสนับสนุนในการสร้างและการขาย
ระบบสหกรณ์การเกษตรมีบทบาทตั้งแต่การวางแผนงานทั้งปี เพื่อใช้พื้นที่ให้ได้ประโยชน์ในทุกฤดูกาลจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวสำหรับทำเหล้ามันเทศ ข้าวสาลีสำหรับทำมิโสะ ซีอิ้วญี่ปุ่น เป็นต้น การสร้างสตอรี่ให้กับเกษตรกรทุกคนในอำเภอจนกลายเป็นการรับรองและยกย่องเกษตรกรของอำเภอนั้นด้วยตราประจำอำเภอ พวกเขาเปิดพื้นที่ให้เกษตรกรได้พูดคุยกันเพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าของตนเอง และเปิดหน้าร้านจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรจากที่ต่างๆ ให้เป็นกิจการของคนรุ่นใหม่ทำหน้าที่สื่อสารภาษาและทำงานด้านเทคโนโลยีเชื่อมกับโลกและคนต่างถิ่นและเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรไปพร้อมกัน
ในบางครั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรก็ได้เรียนรู้ความน่าทึ่งของผู้คนในหมู่บ้านตนเองไปพร้อมๆ กับแขกผู้มาเยือนอย่างในครั้งนี้
ก่อนกลับเราได้แวะเยี่ยมเกษตรกรอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งรวมกลุ่มกันจำหน่ายดอกไม้และใบไม้ตกแต่งตามงานเทศกาลต่างๆ
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เกษตรกรกลุ่มนี้ได้เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสโดยเปิดจำหน่ายชุดดอกไม้ประดิษฐ์จากดอกไม้สด
ทั้งจัดเป็นชุดพร้อมส่งให้ไปฝึกสมาธิเองที่บ้านและเปิดเป็นคอร์สฝึกทำงานฝีมือร่วมกันของผู้สูงอายุ
โดยมีจุดเด่นคืองานของที่นี่เป็นงานศิลป์แบบ Masterpieces ทุกชิ้นเป็นผลงานชิ้นเอกและมีเพียงชิ้นเดียวในโลก
ดอกไม้ ใบไม้จะถูกตัดจากแปลงในโรงเรือนที่เลี้ยงบำรุงอย่างดี ผ่านกระบวนการคงสีและรูปร่างเอาไว้
ก่อนนำมาให้ผู้ร่วมกิจกรรมจัดตกแต่งตามแบบของตนเอง
ซากุระบางเบาถูกเด็ดออกทีละกลีบ ชุบสี
แต่งแต้มให้ใกล้เคียงสีเดิม แล้วนำกลับมาประกอบใหม่ให้กลับกลายเป็นดอกซากุระที่เหมือนของจริงจนถึงเกสรขนาดเล็กจิ๋ว
ไฮเดรนเยียและกุหลาบกลีบบางก็สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ด้วยวิธีเดียวกัน ทีละกลีบ ทีละใบ ทีละก้าน
การประกอบใหม่ใช้ความประณีต บรรจงและใส่ใจ น้องๆ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรกรชาวญี่ปุ่นที่พาเรามาทำกิจกรรมจัดดอกไม้ประดิษฐ์จากดอกไม้สด
ถึงกับว้าวในความเก๋าของคนรุ่นปู่ ย่าที่กล้าสร้างสรรค์งานศิลป์เหล่านี้
โลกกำลังพลิกผันกลับสู่จุดสมดุลของตัวเอง เมื่อก้าวไปไกลจนล้า คนบางคนก็เริ่มหวนกลับ แต่ถ้าจะก้าวกลับไปให้ไกลก็ต้องกล้า
เหมือนกับซากุระที่ต้องอาศัยความกล้าที่จะแยกกลีบแล้วประกอบกลับใหม่
คงมีบ้างที่ขาดวิ่นไปและมีบ้างที่ไปต่อได้
เราคงได้เห็นดอกไม้อีกมากมายเลือกที่จะเบ่งบานในแบบของตนเอง ทั้งดอกไม้สด ดอกไม้ประดิษฐ์ แบบดั้งเดิมจนถึงกลายพันธุ์ ในความหลากหลายมีความสวยงามเสมอ ครั้งหน้าทีมอารยธามจะพาคุณกลับเมืองไทยไปค้นหาดอกไม้ลูกผสมพันธุ์ใหม่ๆ ที่เบ่งบานในแบบของตนเองในอารยทริปตอนต่อไป +
นาโน
พรรษา ภูชำนิ
วินวัฒน์
พรรษา ภูชำนิ