อารยทริปเกาะคิวชู ตอนที่ 4 จิตวิญญาณบนแผ่นไม้

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 05 มิถุนายน 2567

    อารยทริปเกาะคิวชู

    ตอนที่ 4 จิตวิญญาณบนแผ่นไม้

              เสียงแห่งความเงียบแทรกตัวเองอยู่ในทุกอณูของบรรยากาศในบ้านของช่างไม้ชาวญี่ปุ่น ที่กำลังเตรียมข้อมูล เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตัวเขาและงาน ความเงียบนั้นเกิดจากความรู้สึกที่ตัวเราเองกลายเป็นส่วนหนึ่ง ของบ้าน แสง อากาศ และบรรยากาศภายนอก 

              บ้านหลังเล็กเพดานไม่สูงมีเพียงโต๊ะเตี้ยตรงกลางที่โดดเด่น โคมไฟแขวนต่ำลงกว่าจุดที่ผู้คนจะเดินผ่านโดยไม่ ค้อมศีรษะ เปลวไฟกำลังโลมเลียขอนไม้ในเตาผิงขนาดเล็กเพื่อปล่อยไออุ่นให้กับทุกชีวิตภายในห้อง เลยออกไปในสวน แสงแดดอ่อนทอตัวเองเป็นเส้นแสง จับต้องกลุ่มไม้ที่ได้รับการดูแลอย่างเอาใจใส่
             บ้านต้องไม่เด่นเกินเรา เราต้องไม่เด่นเกินบ้าน บ้านกับเราเป็นหนึ่งเดียวกัน เราจึงสบายใจที่จะอยู่


              คำบรรยาย ของคุณฮามาดะช่างไม้เจ้าของงานศิลปะที่เรียกว่า “บ้าน” ซึ่งพวกเรากำลังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง บอกเล่าแนวความคิด การสร้างบ้านของเขาด้วยน้ำเสียงเรียบง่าย มือหยิบหนังสือสามสี่เล่มที่วางอยู่ตรงหน้า เปิดภาพของสึเนะคาสุ นิชิโอกะ (Tsunekazu Nishioka) ปรมาจารย์ช่างไม้ที่สืบเชื้อสายมาจากช่างผู้ก่อสร้างวัดโฮริวจิในเมืองนารา งานสถาปัตยกรรมไม้อายุกว่า 1,300 ปี ซึ่งแม้เขาไม่ได้เรียนกับท่านโดยตรง แต่ก็สืบทอดมาในรุ่นที่สามจากมิซึโอะ โอกาวะ (Mitsuo Ogawa) หนึ่งในศิษย์ที่มีจำนวนเพียงไม่กี่คนของสึเนะคาสุ นิชิโอกะ คุณฮามาดะเป็นคนเกาะคิวชูเพียงคนเดียวที่ได้รับการคัดเลือกจากมิซึโอะให้เป็นลูกศิษย์

              เขาไม่ได้มีโอกาสพบกับผู้ก่อตั้งสำนักช่างไม้บ่อยนัก แต่เพียงหนึ่งครั้งที่ได้พบกัน เขาก็ได้รับบางสิ่งที่ตราตรึง ในใจ

             

              ผมคิดว่าถ้าผมจะถามเรื่องไม้ก็คงจะตื้นเกินไป ผมเลยถามท่านว่า ‘จักรวาลกว้างขนาดไหน’ ท่านตอบว่า ในจักรวาลมีสีเขียว ในสีเขียวมีธรรมชาติมีสิ่งมีชีวิตอยู่ สีเขียวในที่นี้อาจารย์หมายถึง ต้นไม้ หรือธรรมชาติที่แสดงให้เห็นว่า มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ แล้วอาจารย์พูดต่อว่า ‘คุณถามเรื่องจักรวาลใช่ไหม โลกเป็นหนึ่งในจักรวาล เป็นธรรมชาติที่ยอดเยี่ยมมาก แล้วคุณมีโอกาสที่มีชีวิตอยู่ บนโลกในจักรวาลนี้ ให้รู้สึกขอบคุณในโอกาสที่คุณได้มีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้’ เป็นคำตอบที่ไม่ได้ตรงคำถาม ผมเองก็ไม่ได้เข้าใจเพราะตอนนั้นอายุเพียง 23 ปี จนผ่านเวลามานาน ตอนผมเริ่มสร้างบ้านหลังนี้ เพราะมีลูกมีภรรยา รู้สึกว่าการสร้างบ้านนี้เพื่อใคร เพื่อครอบครัว จึงเริ่มเข้าใจในคำพูดของอาจารย์ที่ได้พูดไว้ ก็เลยมีความรู้สึกว่า บ้านกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวควรจะเชื่อมกันเป็นส่วนเดียวกัน แม้อยู่ในบ้านเหลือบไปดูข้างนอกก็ได้เห็นอะไรเขียวๆ ทุกอย่างเป็นส่วนเดียวกัน ลมพัดใบไม้เคลื่อนไหว รู้สึกได้ว่าลมพัดนะ มีเสียงลมนะ ดูมีแสงเงาลอดเข้ามาจากต้นไม้ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นสำคัญกับคน คือความอ่อนโยนของธรรมชาติ โลกทั้งโลกคือหนึ่งเดียวกัน เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะมีคนหรือไม่มีคนก็มีสิ่งมีชีวิต”

              คำถามและคำตอบของศิษย์รุ่นหลานกับปรมาจารย์ผู้สร้างสำนัก เมื่อผ่านเวลายาวนาน กลับอธิบายได้ถึง ความลึกซึ้งของงานช่างไม้ ไปจนถึงความคิดและจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น จนกลายเป็นอารยธรรมจากไม้ และสืบสานต่อมาด้วยการสอนแบบถ่ายทอดจิตวิญญาณ

      ที่นี่จะมุ่งเน้นการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งระหว่าง ชีวิตและธรรมชาติ คนกับไม้ ลึกซึ้งจนถึงขั้นที่ผู้เรียนรู้สึกได้เอง เข้าใจได้เอง คิดเอง ปฏิบัติเอง จนออกมาเป็นผลงาน ของตนเอง เป็นผลงานของผู้เรียนและไม้ที่ประกอบกันด้วยทั้งชีวิตและจิตวิญญาณ

              คุณฮามาดะบอกเล่าถึงวิธีการอันลึกซึ้งซึ่งเขาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นช่างซ่อมศาลเจ้าของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงวัฒนธรรม เป็นช่างขั้นสูงที่เรียกว่า มิยาไดกุ (Miyadaiku) ผู้เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ และเทคนิคความชำนาญในการสร้างงานไม้ และมีภารกิจ ซ่อมแซมศาลเจ้าโดยไม่ใช้ตะปูแม้สักตัวเดียว

              “การเลือกไม้ใช้เวลานานมาก ผมมีเวลา 1 ปี ในการซ่อมแซมศาลเจ้าตามรูปแบบ งานช่างแบบดั้งเดิม แต่ขั้นตอนการเลือกไม้เราใช้ไปนานมากถึง 3 เดือน เพราะการเลือกไม้เป็นสิ่งจำเป็นมาก คุณจะเห็นวงไม้แต่ละวงเหมือนเห็นการเติบโตของต้นไม้"

              "เส้นสีวงที่มีสีเข้มกว่าวงอื่นนั่นเพราะว่าในปีนั้น ต้นไม้ต้องผ่านความแล้งและยากลำบาก ไม้ส่วนนี้จะแกร่งทนและไม่ค่อยขยายตัว เท่าไม้ที่มีสีขาวระหว่างเส้นรอบวงมาก เพราะความชื้นและอากาศจะผ่านทางช่องสีขาวระหว่างเส้นรอบของแต่ละวง ทำให้ไม้ขยายตัวต่างกัน ไม้จึงมีชีวิตแม้จะตัดลงมาแล้ว ไม้ยังหายใจและขยับขยายตัวเอง งานไม้จึงเป็นงานที่ต้องเข้าใจไม้อย่างมาก ไม้ที่เติบโตในประเทศฝั่งตะวันตกเมื่อมาประกอบเข้าในประเทศญี่ปุ่น พอเวลาผ่านไป มุมที่ประกอบกันจะไม่สนิท เพราะไม้นั้นไม่ชินกับอากาศที่ประเทศนี้ จึงไม่เหมือนไม้ที่เติบโตในประเทศญี่ปุ่น เราเลือกไม้และใช้ไม้ทุกชิ้นให้เหมาะสมกับชิ้นงาน จึงใช้เวลาไปมาก”  เสียงคุณฮามาดะเล่าถึงภารกิจของการสานต่อ วิชางานไม้ตามแบบของญี่ปุ่นดั้งเดิม เพื่อต่ออายุสถาปัตยกรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของประเทศ 

    ผมกำลังสร้างสถาปัตยกรรมเก่าในยุคใหม่ เคร่งครัดแต่ผ่อนคลาย รู้ว่ากำลังทำอะไร เพื่ออะไร และไม่ได้ยึดติดกับความคิดของตนเองเท่านั้น แต่ใช้วิธีการพูดคุยกันเพื่อให้เข้าใจ

              ขณะเวลานั้น ความคิดคำนึงของฉันก็พลันวิ่งย้อนเวลาแสงกลับมาที่ภาพใบหน้าของครูยักษ์ (อาจารย์ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร) ผู้ซึ่งประสิทธิประสาทหลักคิดของการมีชีวิตที่เชื่อมโยงกับดิน น้ำ ป่า และการสอนให้เข้าใจ ในปรัชญาของความพอเพียงจนแจ่มแจ้งไปพร้อมกับความชำนาญด้านเทคนิค เมื่อพอเพียงจึงเข้าใจถึงชีวิตในดิน ในน้ำ ในอากาศ จึงห่มดินปกป้องรากฐานของชีวิต ปลูกต้นไม้เพื่อให้สรรพสิ่งได้มีที่อยู่อาศัย มีชีวิตที่หมุนเวียนวนไป ด้วยเพราะเข้าใจว่า เราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมะคือธรรมดาที่ต้องสูญสลายกลับไปเป็นหนึ่งเดียวกับ ดิน น้ำ ป่า อากาศอีกครั้ง


              เราจากลาคุณฮามาดะและบ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่นด้วยความประทับใจ มีบางสิ่งงอกงามราวกับใบไม้ กำลังผลิใบในหัวใจ 

              มีคนที่เหมือนกันอยู่ในที่ที่ห่างไกล ไม่เพียงที่นี่ แต่จะมีอีกทุกที่ที่เราไป

              ธรรมชาติเป็นเช่นนั้น เราจึงคงอยู่ มนุษย์จึงยังคงอยู่ + 




    เรื่อง  Writer :

    นาโน


    ภาพประกอบ Graphic Design :

    พรรษา ภูชำนิ


    ภาพถ่าย Photography :

    พรรษา ภูชำนิ

    วินวัฒน์


    ความคิดเห็น