บ้านพะเนิน อารยวิถีคนตีมีด

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 29 พฤษภาคม 2567
    บ้านพะเนิน อารยวิถีคนตีมีด

               บ้านพะเนิน หมู่บ้านที่เกิดจากการรวมตัวของหนุ่มมือใหม่กับครูของพวกเขา ริเริ่มร่วมกันก่อร่างสร้างหมู่บ้านอารยวิถีที่สืบทอดการตีมีดแบบโบราณ เปิดตัวครั้งแรก ณ หมู่บ้าน  อารยธาม ในงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ 17 ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

                พะเนิน โดยทั่วไปจะหมายถึงของที่สุมรวมกัน ที่ได้ยินบ่อยๆ อย่างเช่น กองพะเนินเทินทึก ในความหมายก็คือกองเป็นภูเขาเลากา ส่วนภูเขาเลากาจะกองขนาดไหน ขอยุติไว้เพียงเท่านี้ก่อน เพื่อกลับมาที่ความหมายของคำว่า พะเนิน ในวงการตีมีด ซึ่งหมายถึง ค้อนลูกใหญ่ที่ใช้ในการตีมีด

                นอกจากนี้ ในสมัยโบราณจะมีการรวมตัวกันของช่างตีมีด เพื่อลงแรงตีเหล็กให้แบนและบางเป็นรูปร่างของใบมีด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้พละกำลังอย่างมากในการตี จึงต้องอาศัยแรงของช่างตีหลายๆ คนมาช่วยกัน การรวมตัวเพื่อลงแรงเช่นนี้เรียกว่า การตีพะเนิน  อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านช่างตีมีดกลุ่มนี้ 

              ใครที่ไปงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน และมีโอกาสได้เดินเข้าไปเยี่ยมเยือนโซน “บ้านพะเนิน” นอกจากจะได้เห็นผลงานมีดหลากหลายประเภทของสมาชิกบ้านพะเนิน ที่วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งร้านค้า จุดดิสเพลย์ และพื้นที่สนทนาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับมีด ตั้งแต่แนะนำประเภทมีด การใช้งาน การจับมีดที่ถูกต้อง วิธีการดึงมีดออกจากฝัก กระทั่งการลับคมมีดแล้ว ในบริเวณใกล้ๆ กันก็ยังจะได้พบกับการสาธิตวิถีตีมีดแบบโบราณที่ใช้แรงคนเป็นหลัก ตั้งแต่การอัดลมควบคุมแรงไฟไปจนถึงการรวมพลังช่วยกันตีเหล็กร้อนๆ แดงๆ ให้แบนบางเป็นมีดที่เรียกว่า การตีพะเนิน  ให้ชมและให้ได้ทดลองตีด้วย เป็นที่ชื่นชอบสำหรับเด็กๆ ที่แม้จะต้องรวบรวมแรงกายทั้งหมดเพื่อยกค้อนขึ้นตีในแต่ละครั้ง ก็ยังสู้กันยิบตาเพราะท้าทายและได้เล่นสนุก ตรงข้ามกับผู้ใหญ่ที่มาทดลองตี ยกค้อนฟาดทีสองทีก็ถอย เพราะรู้แล้วว่าหนัก ร้อน เหนื่อย และยาก กว่าจะตีให้เหล็กร้อนๆ แดงๆ ที่คีบจากเตามาวางบนทั่งตรงกลางวงนั้นกลายเป็นมีดสักหนึ่งเล่ม  

              ในเส้นทางยากลำบากก็ยังไม่สิ้นไร้คนเดิน  และนี่คือความน่าสนใจที่ดึงดูดให้อยากเข้าไปคุยกับ “บุ้ง” และ “ตั้ม” 2 หนุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนใจการตีมีด และชวนกันไปขอเรียนรู้กับ “ช่างน้อย-สมควร สีสุวัน” ช่างตีมีดมืออาชีพที่สืบสานการตีมีดแบบโบราณและพัฒนาต่อยอดจนเป็นที่ยอมรับระดับสากล  

              “ผมไม่ได้เห็นมีดแล้วสนใจมาทำมีดนะครับ” ประโยคแรกของ บุ้ง-ณัฐวุฒิ เสมาทอง วิศวกรหนุ่มที่กลับบ้านมาปลูกป่า หลังเรียนจบและทำงานในเมืองกรุงอยู่หลายปี เล่นเอาคนถามเหวอไปนิดนึงกับคำตอบ ก่อนจะมีเสียงเจื้อยแจ้วต่อมาว่า “ผมเริ่มจากอยากกลับบ้านไปปลูกป่าทำสวน ผมชอบธรรมชาติ ชอบอยู่บ้าน อยากทำพื้นที่ของตัวเอง พอเข้าวงการป่าก็อยากหามีดดีๆ มาใช้ ทีแรกเราคิดว่ามีดอะไรก็เหมือนกัน แต่จริงๆ ไม่ใช่นะครับ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมค้นหามีด แล้วบ้านเรา (บ้านใหม่ ต.ตาลเดี่ยว อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์) เป็นบ้านตีมีด ก็เลยเจอครูเป็นช่างตีมีด ขายมีดในเพจ ผมก็ซื้อมาใช้ มีดแกดีมากเลย จากเป็นลูกค้า ผมก็ตามไปที่บ้าน พอไปบ้านผมก็ขอเป็นลูกศิษย์ เพราะผมเองก็เคยคิดว่าอยากจะทำอะไรที่เป็นตัวของตัวเอง อยากจะพึ่งพาตัวเอง มันแปลกมากเลยครับ งานที่ทำตอนนี้ชั่วโมงงานมากกว่าเมื่อก่อน แต่อยากตื่นลุกไปทำงานทุกวัน กลางคืนก็ยังอยากทำงาน สนุกกับการทำงาน ถามว่าชอบมาแต่แรกเริ่มมั้ยไม่รู้ แต่รู้ว่าตอนนี้ผมชอบมากจากการได้เริ่มทำ”     

             นั่นคือคำตอบของบุ้ง เมื่อถูกถามว่า...ทำไมถึงสนใจเรียนตีมีด

              ด้วยคำถามเดียวกัน สำหรับ ตั้ม-กิตติรัตน์ สารแดง ช่างภาพหนุ่มชาวกรุงที่ย้ายตัวเองและครอบครัว ไปปักหลักเริ่มต้นทำสวนที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เขาตอบอย่างหนักแน่นว่า “ผมเป็นคนชอบงานช่าง พอย้ายออกจากกรุงเทพฯ มาอยู่บ้านสวนก็อยากพึ่งตนเองมากขึ้น พยายามทำอะไรเอง แปรรูปของใช้เอง ทำสบู่แชมพู ทำชั้นวางของ ทำโต๊ะตู้ใช้เอง ตอนที่ผมย้ายมาอยู่ ผมรู้ว่าที่หล่มสักมีชุมชนตีมีดที่มีชื่อเสียงอยู่ ผมคิดอยู่สองอย่างว่าเราจะเริ่มทำงานช่างจากอะไรดี ระหว่างงานมีดกับงานไม้ ตอนนั้นผมคิดว่าถ้าทำงานไม้ ผมได้ทำของใช้เองก่อน เลยทำงานไม้ก่อน ทำอยู่ได้ 3-4 ปี พอดีน้องบุ้งมาชวนเรียนตีมีด ก็เลยคิดว่าได้เวลาแล้ว ไปเรียนสิ่งที่ตัวเองก็สนใจอยากเรียนอยู่แล้ว”  

             และอีกหนึ่งคำตอบจากครูผู้สร้างช่างตีมีด บ้านพะเนิน สมควร สีสุวัน หรือช่างน้อย ช่างตีมีดมืออาชีพที่สืบสานการตีมีดแบบโบราณจากตระกูลของภรรยาซึ่งตีมีดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ

    “ผมปลดจากทหารเกณฑ์ก็เริ่มมาทำมีด เพราะเห็นว่าช่างมีดเป็นอาชีพอิสระ สามารถเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัวได้ไม่ต้องเดินทางไปข้างนอก ผมอยากทำงานอยู่บ้าน อยากอยู่ดูแลครอบครัว คือบ้านแฟนผมเป็นครอบครัวที่ตีมีดมาตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นร้อยปีแล้ว ผมมาเป็นลูกเขยเขา พอเลือกแล้วว่าจะทำงานมีดก็ฝึกฝนทำงานมีดอย่างเดียว ช่วงแรกก็ทำมีดการเกษตร มีดพร้า ตามช่างมีดของทางบ้าน หลังจากนั้นก็พัฒนาทำงานมีดที่เป็นสากลมากขึ้น เป็นมีดของทั่วทั้งโลก เราก็เรียนรู้ไปเรื่อยๆ แล้วก็กลับมาพัฒนางานมีดของเรา งานเราก็มีคุณค่ามากขึ้น เพราะอาชีพตีมีดอยู่ได้แน่ๆ แต่ต้องรู้จักปรับปรุงเปลี่ยนตัวด้วย มันมีงานมีดมากมายที่เราจะทำได้ งานแบบฝรั่ง งานสะสม งานใช้งาน หรืองานโบราณอย่างมีดเจียนหมากที่เห็นแล้วนึกถึงคุณยายเคี้ยวหมากปากแดง”

              แม้ก้าวแรกในเส้นทางสู่การตีมีดของแต่ละคนจะดูแตกต่างกันไปคนละเหตุคนละทิศละทาง แต่ทุกคนมีสิ่งที่คล้ายกัน คือ มุ่งมั่น อยากพึ่งตนเอง อยากทำงานที่บ้าน และมีศรัทธาในงานมีด ซึ่งเป็นตัวกลางเชื่อมร้อยให้พวกเขามาเจอกัน เรียนรู้ แลกเปลี่ยน พัฒนางานไปด้วยกันจนกลายเป็น “บ้านพะเนิน” หมู่บ้านมิติใหม่ที่ไม่ได้รวมกันเพราะพื้นที่ แต่ร่วมกันเพราะความรักและสนใจในสิ่งเดียวกัน 

              วันนี้ บุ้งและตั้มเรียนตีมีดมาได้ปีกว่าๆ แล้ว มีงานมีดเป็นของตัวเองมากมายหลายรูปแบบ ส่วนช่างน้อยยิ่งไม่ต้องพูดถึงจำนวนงานที่ทำมาตลอดกว่า 20 ปี แถม 4-5 ปีหลังยังเปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้การตีมีดอีกด้วย 

              เสน่ห์และความน่าสนใจของงานมีดยังมีอีกหลายแง่มุม เตรียมชมผลงานมีดเท่ๆ ของ “บ้านพะเนิน” ได้ ในเพจอารยธาม เร็วๆ นี้ 



    เรื่อง Writer :

    พี่หมีบูห์ 


    ภาพถ่าย Photographer :

    ทีมสื่อพึ่งตนเพื่อชาติ

    ความคิดเห็น