อารยทริปเกาะคิวชู ตอนที่ 3 การต้อนรับของซากุระจิมะ

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 13 พฤษภาคม 2567

    อารยทริปเกาะคิวชู

    ตอนที่ 3 การต้อนรับของซากุระจิมะ

              ดอกซากุระและภูเขาไฟ สองอัตลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่ผู้คนฝันว่าครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้มาสัมผัสความงามอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของดินแดนแห่งภูเขาไฟและสีสันของดอกไม้ ภาพจำของภูเขาไฟฟูจิอันโดดเด่นอาจทำให้เราเข้าใจว่าญี่ปุ่นมีภูเขาไฟฟูจิอันงดงามเพียงแห่งเดียว แท้ที่จริงแล้วยังมีภูเขาไฟอีกเป็นจำนวนมาก และมีมากถึง 111 ลูก ที่ยังมีพลัง ยังหายใจ ยังพ่นควันและฝุ่นเถ้าออกมาจากปากปล่องอยู่เป็นระยะ 


              ภูเขาไฟซากุระหรือซากุระจิมะ (桜島, Sakurajima) ก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลามองเห็นเป็นควันสีขาวจางๆ ลอยจากปากปล่องปะปนไปกับก้อนเมฆขาวลอยนิ่งเหนือยอดสามยอดที่เรียงตัวกันคล้ายกลีบดอกซากุระอันเป็นที่มาของชื่อซากุระจิมะ

              เช้าวันนี้อากาศปิด ภูเขาไฟซากุระจิมะหลบอยู่หลังกลุ่มหมอกมองไม่เห็นแม้ปลายยอด 

              ทีมอารยธามจึงได้แต่มองผ่านม่านหมอกและจินตนาการถึงภูเขาไฟขนาดใหญ่กลางทะเลสีน้ำเงินล้อมรอบ พร้อมฟังคำอธิบายประกอบแผนที่ไปพลาง ขณะเดินทางไปยังลานประมูลชาของเมืองคาโกชิม่า (Kagoshima) ด้วยความเอื้อเฟื้อของบริษัทชา คาโกชิม่า เซชา (Kagoshima Seicha) เพื่อให้เราเข้าใจในความเป็นเมืองเกษตรกรของคาโกชิม่าผ่านกระบวนการผลิตและจำหน่ายชา

    ชาที่ไม่ใช่แค่ใบไม้ 

              อารยธรรมชา มีมายาวนานกว่า 5,000 ปี จากหลักฐานที่ค้นพบคาดว่าจะเริ่มจากประเทศจีนกว่า 2,000 ปีก่อนพุทธกาล แล้วแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ แต่อัตลักษณ์ของพิธีชงชาที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ทั้งกระบวนการผลิตชา การประมูล และการผสมหรือการเบลนด์ชา (Blend) ให้ได้รสชาติต่างๆ ไปจนถึงพิธีชงชาของประเทศญี่ปุ่นอันสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อผ่านใบไม้เล็กๆ ที่เรียกว่า ใบชา 

              กระบวนการผลิตชาเริ่มจากเกษตรกรที่เต็มไปด้วยความชำนาญ ใสใจและละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอน เพื่อที่จะปลูกชาให้ได้คุณภาพคงที่ตามวิถีดั้งเดิมและกระบวนการผลิตชาที่ผสมผสานระหว่างเครื่องจักรและความชำนาญของคนอย่างลงตัว 
               ชาจะเข้าสู่ระยะเก็บเกี่ยวราวเดือนเมษายน เกษตรกรจะเริ่มเก็บชาอ่อนที่มีใบตั้งแต่ใบที่ 5 ขึ้นไป และกำลังผลิบานในระดับ 70% เร่งนำส่งตลาดประมูลให้ทันภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อมาถึงตลาดประมูล ชาแต่ละแปลงจะผ่านกระบวนการเบื้องต้นโดยผ่านระบบนึ่งไอน้ำเพื่อยับยั้งกระบวนการทำปฏิกิริยาของชากับออกซิเจน (Oxidization) ชาจะยังคงเขียวสดเหมือนเก็บใหม่หลังจากนั้นจะผ่านกระบวนการนำก้านกลางออกเพื่อให้ชาเขียวที่ผลิตได้มีความนุ่มละมุน ให้รสสัมผัสที่แตกต่างจากชาใบที่จะยังคงเส้นแกนกลางของชาไว้

              ชาที่ผ่านกระบวนการขั้นต้นจะถูกบรรจุในถุงขนาด 30 กิโลกรัม เพื่อเข้าสู่ห้องประมูลชา ซึ่งจะรับเฉพาะชาที่ปลูกในเมืองคาโกชิม่าเท่านั้น จุดประมูลชาจะเป็นเครื่องมือตรวจวัดที่มีความละเอียดสูงเพื่อวัดความชื้น สี กลิ่น รสชาติ พร้อมๆ กับผู้เชี่ยวชาญด้านชาจะทำหน้าที่ตรวจเช็คคุณภาพและตั้งราคาเพื่อการประมูล

              ตลาดประมูลชาจะเป็นเหมือนลานเชื่อมกลางความสัมพันธ์ ระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกชาและบริษัทผู้จำหน่ายชาให้ไปถึงมือคนรักชา โดยมีสิ่งที่รวมความสนใจและความใส่ใจของทุกคนไว้ร่วมกันการคง กลิ่น สี และรสชาติของใบชาเล็กๆ ให้ส่งผ่านคุณค่าของความเป็นชาคาโกชิม่าออกไปให้ได้อย่างสม่ำเสมอ พวกเขาทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นความเชื่อมั่นในกันและกัน เกษตรกรจะปลูกชาที่ดีที่สุด ตลาดประมูลคัดสรรใบชาที่ได้คุณภาพทั้งความชื้น สี กลิ่น รส และบริษัทผู้จำหน่ายจะประมูลชาทั้งแปลงของเกษตรกรเพื่อนำไปผสมเข้าด้วยกันให้คงกลิ่น สีและรสชาติตามที่ผู้บริโภคต้องการ 


              
    ความร่วมมือที่ครบวงจรด้วยความมุ่งมั่นของคนที่นี่ ทำให้ชาของเมืองคาโกชิม่ามีชื่อเสียงอย่างมาก คำสั่งจองจากที่ต่างๆ ทั่วโลกจะมาถึงมือเกษตรกรก่อนฤดูกาลเพาะปลูก ทั้งจากบริษัทคู่ค้าที่ติดต่อเกษตรกรโดยตรงและผ่านตลาดประมูลชา เกษตรกรจึงสามารถวางแผนการผลิตได้เอง โดยมีตัวแทนจากบริษัทคู่ค้าทำหน้าที่ตรวจแปลงในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว


               กลไกกลางที่สำคัญอีกกลไกหนึ่งคือ 
    สหกรณ์การเกษตรของประเทศญี่ปุ่น (Japan Agricultural Cooperatives: JA) สหกรณ์ JA มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในภาคการเกษตร  JA จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการทำเกษตร การทำตลาด การกระจายสินค้การเงิน ฯลฯ เพื่อให้ระบบการเกษตรของญี่ปุ่นอยู่ได้ โดยรัฐถือหุ้นของ JA จำนวนหนึ่ง และให้เกษตรกร บริษัทผู้ผลิต และผู้บริโภคร่วมถือหุ้นด้วย ปัจจุบัน JA มีสมาชิกกว่า 5 ล้านคน 

              ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการและกลไกสำคัญของระบบการเกษตรแบบเครือข่ายพันธมิตรปิดวงจร ซึ่งทำให้เกษตรกรผู้ผลิตชามีความมั่นคงและมั่นใจที่จะผลิตชาคุณภาพดีด้วยความใส่ใจและความรัก ในขณะที่ผู้ซื้อ ผู้บริโภคก็ได้สัมผัสถึงความใส่ใจในทุกกระบวนการ 

             ความซับซ้อนของกระบวนการผลิตชายังไม่จบเพียงเท่านี้ 


             หลังการประมูลได้ชามาแล้ว โรงงานผู้ผลิตชาจะต้องนำชามาผสมกันในสัดส่วนที่ลงตัวเพื่อให้ได้ชาที่มีกลิ่น สี และรสชาติ คงที่แม้ชาที่ปลูกในแต่ละแปลงจะแตกต่างกันในแต่ละปี กระบวนการนี้ต้องใช้ผู้มีประสบการณ์สูง  

             

    “คน” ผู้มากประสบการณ์เหล่านี้ เป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ความไม่แน่นอนของผลผลิตทางการเกษตรซึ่งปลูกโดยกระบวนการพึ่งพาธรรมชาติ สามารถเชื่อมโยงกับระบบอุตสาหกรรมที่ต้องการความแน่นอนของผลผลิต

                นักปรุงชาเหล่านี้อาศัยความชำนาญในการปรุงชาจากแต่ละแปลงที่แตกต่างกันให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความคงที่ของกลิ่น สี และรสชาติตามที่ผู้บริโภคต้องการได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

              ความชำนาญของนักปรุงชาจึงเป็นความแตกต่างของกระบวนการผลิตที่ทำให้ "ชาคาโกชิม่า"  มีความนุ่มละมุนเจือกลิ่นอายธรรมชาติ เหมาะจะอยู่ในช่วงเวลาแห่งการพักกาย พักใจ ช่วงเวลาที่ปลดปล่อยจิตวิญญาณของตัวเราให้กลับไปสัมผัสธรรมชาติอีกครั้ง และนั่นคงเป็นความหมายที่แท้ของ "อารยธรรมชา" ที่คนคาโกชิม่าส่งผ่านใบชาให้ผู้คนทั่วโลกได้สัมผัสถึงความละเมียดละไมในวิถีชีวิตของพวกเขา เป็นกลิ่นอายเดียวกับพิธีชงชาอันเลื่องชื่อของญี่ปุ่น ทั้งความงดงามการจัดวาง จังหวะและขั้นตอนที่สะท้อนถึงความคิด ความเชื่อ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง ความเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไปจนถึงการสำนึก “ขอบคุณ” ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่ทำให้เราได้มีชีวิตอยู่ในแต่ละวัน 

              การเดินทางมาเยี่ยมเยียนเมืองเล็กๆ อย่างเมืองคาโกชิม่า นอกจากจะทำให้เราได้เห็นถึงความพยายามในการรักษาภาคเกษตรกรรมไว้ในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ตั้งแต่ภาครัฐและภาคเอกชนไปจนถึงเกษตรกร ต่างลงมือ ลงแรง ลงใจ สร้างชุมชนคนผลิตอาหารที่ยังคงคุณค่าของชีวิตที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ ดิน น้ำ ป่า อากาศ ลม ฝน ผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน และยังทำให้เรามองเห็นทางออกจากสถานการณ์ความตกต่ำของภาคเกษตรที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเรา แสงสว่างเล็กๆ ที่ทำให้มองเห็นถึงแนวทางที่จะสร้างชุมชนใหม่ที่รวมผู้คนซึ่งให้คุณค่าของอาหารที่ผลิตอย่างใส่ใจในทุกกระบวนการ และกินอย่างรู้คุณค่าของชีวิตทุกชีวิตที่ต่อยอดชีวิตของพวกเราในทุกลมหายใจ เล็กใหญ่ล้วนมีคุณค่า

              ใบชาเล็กๆ ไม่กี่ใบกลับไม่ได้เป็นเพียงแค่ใบไม้ แต่ถ่ายทอดคุณค่า ชีวิต ความคิดและความเป็นคนญี่ปุ่นออกมาได้ในทุกการผลิใบ 

    ซากุระบานแล้ว

              ออกจากโรงงานคาโกชิม่า เซชา ด้วยความรู้สึกอิ่มเอมใจ ภายนอกอากาศแจ่มใสท้องฟ้าเปิด ลมเบาๆ พัดพาความหนาวเย็นสัมผัสผิวกาย แล้วเราก็ได้เห็นความงดงามของซากุระจิมะท่ามกลางท้องฟ้าสีฟ้าใส ภูเขาไฟที่ดูคล้ายกลีบดอกซากุระกำลังพ่นควันสีขาวจางๆ ออกจากปากปล่อง เมฆขาวถูกกลุ่มควันเชิญชวนมาเยี่ยมเยือนหน้าปากประตูบ้าน กลายเป็นภาพหมวกเมฆภูเขาไฟที่สวยงาม หน้าฉากของภูเขาไฟสีเขียวหม่นคือท้องทะเลสีฟ้าเข้ม เป็นความสวยงามและยิ่งใหญ่ 

              “ซากุระจิมะ อ้าแขนต้อนรับพวกเราแล้ว” หลายคนรู้สึกเช่นนั้น หลังฟ้าปิดเมฆมัวมาตลอด การต้อนรับที่น่าจะมาจากความเข้าใจของพวกเราทีมเยือนเมืองที่ได้มองเห็นคุณค่าของความใส่ใจในทุกรายละเอียดของการใช้ชีวิตของคนคาโกชิม่า และความพยายามอย่างยิ่งที่จะคงความเป็นคนเมืองเกษตรกรรมให้หนักแน่น แข็งแกร่ง ผ่านความหม่นมัวของโลกยุคปัจจุบัน เป็นความหวังว่า ในไม่ช้าเกษตรกรรมในวิถีธรรรมชาติจะเปิดตัวผ่านม่านมัวหม่นเหมือนซากุระจิมะในวันนี้ เมื่อเราเข้าใจความงามที่แท้จริงของชีวิตกับธรรมชาติ และธรรมชาติของชีวิต +

    เรื่อง  Writer :

    นาโน

    ภาพถ่าย Photography :

    พรรษา ภูชำนิ

    วินวัฒน์

    ความคิดเห็น