อาหารอารยะจากหมู่บ้านอารยธาม

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 13 พฤษภาคม 2567

    อาหารอารยะจากหมู่บ้านอารยธาม

              เก็บตกจากงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดินครั้งที่ 17 เมื่อวันที่ 15-17 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี ที่ผ่านมาของหมู่บ้านอารยธาม หนึ่งในจุดแลนด์มาร์ค (Landmark) ที่ผู้เข้าเยี่ยมชมงานให้ความสนใจอย่างมาก ในครั้งนี้หมู่บ้านอารยธาม นำทีมโดยเพื่อนๆ พึ่งตนเพื่อชาติ น้องๆ ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย และเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอและลาหู่ ได้เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปัน รวบรวมรากแห่ง “อารยวิถีคนพึ่งตน แบ่งปัน” ที่ร่วมกันสืบสาน รักษา ต่อยอดภูมิปัญญาองค์ความรู้ต่างๆ ของมรดกทางวัฒนธรรม ที่สามารถช่วยหยุดโลกเดือดได้ด้วยการ “ลงมือทำ" มานำเสนอไว้ในที่แห่งนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรากภูมิปัญญาการทอผ้า การทำผ้ามัดย้อม การตีมีด ซุ้มเครื่องดื่ม สภากาแฟ และที่สำคัญกิจกรรมห้องเรียนของน้องปูทะเลย์ฯ ในวิชา Chef table 


    เมื่ออาหารเป็นได้มากกว่าอาหาร

              อาหารและเครื่องดื่มจากหมู่บ้านอารยธาม ทุกเมนูเกิดจากวิถีการพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตของกลุ่มคนพึ่งตน แบ่งปัน ที่ผ่านการปลูกอยู่ ปลูกกิน และคิดสร้างสรรค์ จัดอาหารลงในภาชนะที่ทำจากพืชพรรณต่างๆ เช่น ใบตอง จานไม้มะขาม และอื่นๆ ได้อย่างน่าสนใจและสวยงาม โดยเฉพาะกิจกรรมห้องเรียน Chef table เชฟตัวน้อยน้องปูทะเลย์มหาวิชชาลัย ที่ลุกขึ้นมาคิดเมนูอาหารจากความสนใจของพวกเขาให้เป็นเมนูพิเศษเฉพาะสำหรับงานมหกรรมฯ ในครั้งนี้ เพื่อต้อนรับเพื่อนๆ จากประเทศเวียดนาม นิวซีแลนด์ ภูฏาน และแขกผู้ใหญ่ที่มาร่วมโต๊ะอาหาร เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567

              ครูพี่กีฟ (ลลิตา เสน่ห์ลักษณา) เล่าถึงวัตถุประสงค์ของห้องเรียนนี้ที่จัดขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่เรียนรู้ด้วยความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีความเข้าใจ ผ่านการเรียนรู้แบบโครงงานควบคู่กับวิชาพื้นฐานแก่นักเรียนให้ได้เรียนรู้วิธีรวบรวมแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 9 ขั้นตอน จากการคิดไปสู่การร่วมลงมือทำ เรียนรู้การพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิต ตั้งแต่การร่วมปลูกและเรียนรู้กับทีมพี่เกษตร เช่น ปลูกข้าวกินเอง ปลูกผัก ถั่ว หรืออะไรก็ตามที่อยากกิน จนถึงการทำอาหารร่วมกับครูผู้สอนที่มีความเชี่ยวชาญด้านทักษะต่างๆ ที่มาช่วยสนับสนุนและแนะนำวิธีการทำอาหารให้นักเรียน โดยทุกเมนูที่พวกเขาสร้างสรรค์จะขึ้นอยู่กับอาหารที่พวกเขาได้ร่วมปลูกในโรงเรียน ซึ่งเป็นที่พักอาศัยของพวกเขาในวิถีชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังเป็นการลดการซื้อวัตถุดิบจากตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ต และเรียนรู้การเชื่อมต่อกับเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยน แบ่งปัน วัตถุดิบที่มีคุณภาพและปลอดภัย ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งของห้องเรียนนี้ 

              การเรียนรู้ดังกล่าวยังช่วยปลูกฝังให้น้องปูทะเลย์ฯ เข้าใจระบบการเกื้อกูลกันของธรรมชาติที่เราร่วมใช้ประโยชน์จากดิน น้ำ ป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นการทำข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน การสร้างที่อยู่ที่พักอาศัยอย่างเพียงพอ หรืออื่นๆ ที่ออกแบบให้บูรณาการเข้ากับวิชาพื้นฐาน ทำให้ได้เรียนรู้วิธีใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพสูงสุด และถือเป็นวิถีแห่งการรักษ์โลกได้อีกด้วย

    บททดสอบ สถานการณ์ฉุกเฉินกับอาหารพร้อมเสิร์ฟ

              บรรยากาศในงานช่างเป็นใจ เมื่ออาหารพร้อมเสิร์ฟ และแขกมาถึง ณ ลานกลางหมู่บ้าน ทุกท่านได้นั่งเก้าอี้พร้อมสรรพ  ทีมผู้จัดงานกล่าวเปิดและแนะนำตัวได้ไม่นานนัก เม็ดฝนเม็ดใหญ่ก็ร่วงหล่นลงมาทีละหยดสองหยด จนกลายเป็นผืนใหญ่แผ่กว้างคลุมไปทั่วพื้นที่จัดงาน เสมือนธรรมชาติได้จำลองสถานการณ์วิกฤตให้เกิดขึ้นจริง เฉกเช่นการจัดฉากเพื่อทดสอบก็ไม่ปาน ในภาวะวิกฤตดังกล่าว น้องๆ ปูทะเลย์ฯ นอกจากจะต้องเร่งรีบกับการเตรียมอาหารแล้ว น้องๆ ก็ยังต้องรับมือกับสายฝนที่เทกระหน่ำลงมาอีก 


              “น้องๆ ได้แก้ไขสถานการณ์และบริหารจัดการด้านต่างๆ ได้ดีมาก ไม่ร้อนรน มีสติ และมีอารมณ์ขันไปกับมัน ถือว่าทำได้ดี”


              คำชมจากผู้อำนวยการโรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย (พี่นุ้ย-เอื้อมพร ลอยประดิษฐ์) หนึ่งในกรรมการชิมอาหารจากทีมนักเรียนปูทะเลย์ฯ และพี่นุ้ยยังได้สะท้อนถึงทีมจัดห้องเรียนครั้งนี้ว่า เป็นรูปแบบการศึกษาที่สร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่สามารถใช้ประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนตลอดหนึ่งปีการศึกษาได้ดี ผ่านวิถีการพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตของนักเรียนที่อยู่อย่างรู้ที่มา สามารถเชื่อมโยงตนเองกับดิน น้ำ ป่า และโลกได้ 

              จากการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นพื้นที่แห่งประสบการณ์อันดีที่สำคัญของหมู่บ้านอารยธามที่ทุกคนได้มาร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และแบ่งปัน คุณค่า “อารยวิถีพึ่งตน แบ่งปัน” อันดีงาม ส่งต่อถึงสังคมและโลกของเรา รวมถึงได้สร้างพื้นที่บ่มเพาะต้นกล้าก่อเกิดเมล็ดพันธุ์น้ำดีให้กับประเทศได้ในอนาคตต่อไป

    เรื่องและภาพวาด : 
    ลิตานาวา
    ภาพถ่าย : 
    ปูทะเลย์
    ความคิดเห็น