อารยทริปเกาะคิวชู ตอนที่ 2 ปราสาทคุมาโมโตะ

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 12 พฤษภาคม 2567

    อารยทริปเกาะคิวชู

    ตอนที่ 2 ปราสาทคุมาโมโตะ

              ปราสาท เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ได้มาสัมผัส 

              ภาพดอกซากุระบานอย่างอ่อนหวานโดยมีฉากปราสาทที่ยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหลัง ให้ความรู้สึกถึงความแตกต่างที่เกี่ยวพันกัน เหมือนธรรมะมีของคู่แตกต่างสุดขั้วแต่อยู่ร่วมอย่างลงตัวตามกฎของธรรมชาติ 

              ปราสาทคุมาโมโตะ ยืนนิ่งสงบอยู่หลังกำแพงหินขนาดใหญ่ที่เรียงตัวไล่ระดับ เอนเอียงตั้งรับการมาถึงของผู้มาเยือนทุกรูปแบบอยางน่าอัศจรรย์ เหลี่ยมมุมองศาและลีลาการก่อกำแพงที่ทั้งหนักแน่นทั้งเอนไหวไปตามตรรกะของธรรมชาติที่ยึดมั่นอยู่กับความไม่แน่นอนส่งผลต่อความรู้สึกของผู้คน มันเป็นความรู้สึกที่ระคนทั้งความตื่นตา ตื่นใจ ความเกรงขามและความเศร้าเจือจาง  

              คาโตะ คิโยมาซะ นักรบผู้แกร่งกล้าเป็นแม่ทัพใหญ่ในยุคเซ็งโงกุผู้สร้างปราสาทคุมาโมโตะอันยิ่งใหญ่นี้ขึ้นในปี ค.ศ.1601 เพื่อป้องกันการรุกรานของข้าศึกศัตรู โดยใช้เวลาสร้างกว่า 7 ปีจึงแล้วเสร็จ เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีชื่อเสียงว่าสามารถสร้างปราสาทที่ไม่สามารถรุกรานได้เก่งที่สุด จึงเป็นที่ต้องการของเจ้าเมืองในยุคนั้นซึ่งปรารถนาให้เขาเป็นผู้ออกแบบและคุมงานก่อสร้าง ตัวเขาเองก็เป็นนักรบด้วย เป็นนักรบซามูไรที่ติดอาวุธครบมือด้วยปัญญาและสมองอันชาญฉลาดที่ออกแบบค่ายกลอันแยบยลให้ข้าศึกหลงเข้าไปในทางที่ไม่มีวันได้กลับออกมา การหักเหลี่ยมมุมองศาของอาคารที่ซับซ้อนจนแม้หากกองหน้านักรบนินจาป่ายปีนข้ามกำแพงที่ไม่มีใครข้ามได้เข้ามาก็ต้องพบเจอกับหนามแหลม และคมศาสตราวุธที่ซุ่มอยู่ในทุกเหลี่ยมมุม 

              การรุกรานปราสาทคุมาโมโตะจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจสำเร็จได้กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา จนถึงปี ค.ศ.1877 คำกล่าวนั้นก็ได้รับการพิสูจน์อีกครั้งในเหตุการณ์กบฏซัตสึมะ โดยไซโกะ ทากาโมริ นำทหารเข้าสู้รบกับทหารฝ่ายรัฐบาลกว่า 3,000 นายที่ตั้งรับในปราสาทคุมาโมโตะ สุดท้ายนักรบผู้ได้รับการยอมรับว่าเก่งกล้าอย่างไซโกะ ทากาโมริ ก็พ่ายแพ้ให้กับความแข็งแกร่งของปราสาทคุมาโมโตะที่สร้างโดยคาโตะ คิโยมาซะ นักรบจากอดีตกาลกว่า 270 ปี  

              แต่ปราสาทอันทรงพลังก็ต้องยอมสยบให้กับธรรมชาติ 

              ในปี ค.ศ.2016 กำแพงหินที่เคยเรียงรายตั้งตระหง่านสร้างแรงกดดันให้กับกองทัพศัตรูกลับทลายลงมาอย่างง่ายดายเมื่อเผชิญกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ต้องใช้เวลาฟื้นฟูกว่า 5 ปี จึงจะกลับมาเป็นปราสาทคุมาโมโตะในปัจจุบัน ถึงกระนั้นร่องรอยความเสียหายยังคงเหลือไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของผู้คนในอดีต ซึ่งแม้เทคโนโลยีในปัจจุบันก็ยังไม่สามารถทำเลียนแบบได้ กำแพงบางช่วงแม้พยายามเท่าใดก็ไม่อาจนำหินที่มีอยู่กลับมาตั้งเรียงให้มุมและองศาเข้ากันอย่างสมมาตรได้ อาคารบางแห่งก็ต้องปล่อยให้สลายไปตามกาลเวลา แม้อาคารหลักอย่างปราสาทคุมาโมโตะที่รัฐบาลท้องถิ่นตั้งใจจะรักษาไว้ให้ได้มากที่สุด ก็กลับมีร่องรอยความผุพังและความเสียหายจากแผ่นดินไหวที่ไม่อาจลบเลือนได้  

              ซากุระบานแล้ววันนี้ เป็นการบานท่ามกลางสายฝนโปรยปราย และอากาศที่เปลี่ยนแปลงฉับไว 

              ทีมอารยธามเดินทางจากลาปราสาทคุมาโมโตะเพื่อไปยังเมืองที่หมายของการเดินทางเรียนรู้ครั้งนี้ คือเมืองคาโกชิมะ (Kagoshima) ที่นี่เราพบรูปของชายกับหมาอยู่ในแทบทุกที่ที่เราไป สอบถามพี่แอร์ (จารุวรรณ ชิมาซากิ) ไกด์ของเราว่ารูปสัญลักษณ์ที่มีอยู่ทุกที่ทั้งร้านค้า ถุงขนม พวงกุญแจ ป้ายขนาดใหญ่นั้นคือใคร จึงได้รับคำตอบว่าเขาคือ “ไซโกะ ทากาโมริ” นักรบที่นำกองทัพเข้าบุกปราสาทคุมาโมโตะนั่นเอง

    “ไซโกะ ทากาโมริ ไม่ได้สร้างปราสาทให้กับเจ้านายคนไหน เขาเป็นนักรบที่ออกไปรบกับนักรบที่สร้างปราสาท การสู้รบของไซโกะ ทากาโมริ คือการซ่อนพรางอยู่ทุกที่ ไม่มีใครรู้ว่ากองกำลังของเขาอยู่ที่ไหนบ้าง เขาเป็นนักรบที่ได้รับการยกย่องอย่างมากด้วยความเป็นคนใจดีที่หมายถึงการเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่น จึงมีคนเดินตามและทำตามเขาเยอะมาก รูปของเขาปรากฏอยู่ทั่วทุกมุมเมือง เพราะเมืองคาโกชิมะคือเมืองเกิดของเขา คนที่นี่ภาคภูมิใจมาก” 

              พี่แอร์เล่าประวัติของไซโกะ ทากาโมริ นักรบที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นซามูไรผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นซามูไรที่แท้จริงคนสุดท้าย เขาเป็นหนึ่งในผู้ฟื้นฟูอารยธรรมของญี่ปุ่นในยุคเมจิและเป็นซามูไรที่มุ่งรักษาวิถีนักรบหรือวิถีบูชิโดไว้ จนท้ายที่สุดต้องกลายเป็นกบฏเมื่อประเทศต้องการเปลี่ยนแปลงตนเองไปตามกระแสตะวันตก ถึงกระนั้นเขาก็ยอมที่จะจากไปพร้อมเพื่อนซามูไรยุคสุดท้ายกว่า 40,000 ชีวิต เพื่อรักษาวิถีบูชิโดไว้ 

              ปราสาทและความเศร้าเริ่มขึ้นและจบลง 

              วันนี้เมืองคาโกชิมะ กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีจิตวิญญาณในการรักษาวัฒนธรรมของตนเอง เราพบผู้คนมากมายที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ตั้งแต่นักปลูก นักปรุง นักแปรรูป นักสร้างสรรค์นวัตกรรม เกษตรกร นักชงชา ช่างไม้ และผู้คนมากมายที่มีวิถีชีวิตซึ่งยังคงกลิ่นอายของความเป็นคนที่มั่นคงและภาคภูมิใจในตนเอง ในวิถีของตนเอง

               แสงแดดออกแล้วซากุระผลิบานเต็มที่ 

              อ่านมาถึงตอนนี้คงทำให้หลายคนคิดถึงหนังญี่ปุ่นสมัยก่อนตอนเราเป็นเด็กๆ พอมาถึงตอนกำลังสนุกมุมจอก็จะปรากฎคำว่า つづく เราก็จะรู้โดยไม่ต้องเรียนว่า..โปรดติดตามตอนต่อไป + 



    ผู้เขียน Writer :

    นาโน

    ภาพถ่าย Photography :

    พรรษา ภูชำนิ

    วินวัฒน์

    ภาพประกอบ Graphic Design :

    พรรษา ภูชำนิ

    ความคิดเห็น