อารยทริปเกาะคิวชู ตอนที่ 1 เชื่อมตัวเราเข้ากับโลก

    ทีมอารยธาม

    เผยแพร่ 30 เมษายน 2567

    อารยทริปเกาะคิวชู

    ตอนที่ 1 เชื่อมตัวเราเข้ากับโลก


              การเดินทางอารยทริปญี่ปุ่นครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นการมาพักผ่อน แต่ที่จริงแล้วทุกคนแบกภารกิจและความคาดหวังมามากมาย โดยคุณผึ้ง พรรณราย พหลโยธิน นำทีมน้องๆ จากศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณาและทีมอารยธามมาสำรวจและค้นหาแรงบันดาลใจจากหมู่บ้าน OTOP ของประเทศญี่ปุ่นที่เกาะคิวชู เริ่มจากเมืองฟุกุโอกะ (Fukuoka) และเมืองคาโกชิม่า (Kagoshima) ซึ่งทั้งสองเมืองเป็นเมืองขึ้นชื่อเรื่องผลผลิตทางการเกษตรและการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากการเกษตร

              ความประทับใจแรกในการมาเยือนเมืองเล็กๆ แห่งนี้ คงต้องยกให้กับ “พี่แอร์ (จารุวรรณ ชิมาซากิ)” พี่สาวคนสวยไกด์กิตติมศักดิ์และล่ามคนไทยที่มาช่วยทำให้ทริปนี้ของเรามีความหมายอย่างมาก พี่แอร์ตัดสินใจมาใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองคาโกชิม่ากว่า 25 ปีแล้ว จึงเป็นคนที่เข้าใจในวิถีของคนที่นี่และเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

              พี่แอร์เริ่มเล่าถึงภาพรวมของสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวที่พวกเรากำลังสนใจ หลังจากได้รับฟังวัตถุประสงค์การเดินทางมาในครั้งนี้ของเรา โดยบอกถึงความท้าทายที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญ โดยเฉพาะเมืองเกษตร คือผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้กระแสน้ำและกระแสลมเปลี่ยนแปลงไป พายุที่เคยพัดเข้ามาจากทางประเทศฟิลิปปินส์กลับไม่เข้าเมืองคาโกชิม่าเหมือนก่อน แต่อ้อมประเทศญี่ปุ่นไปเข้าทางแถบเมืองชิบะ (Shiba) แทน ทำให้ผู้คนที่ไม่คุ้นเคยกับพายุรับมือได้ยาก หรืออย่างเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนรุนแรงคือภูเขาไฟระเบิดและสึนามิ ซึ่งทีมนักวิจัยของญี่ปุ่นเฝ้าจับตามองบริเวณที่เคยเกิดแผ่นดินไหวและที่คาดการณ์ว่าจะเกิดอย่างต่อเนื่อง แต่ผลปรากฏว่ากลับมีเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้เกิดขึ้นคือแผ่นดินไหวในจุดที่ไม่เคยเกิด ส่วนจุดที่เคยเกิดและคาดการณ์ว่าจะเกิดนั้นกลับไม่เกิด 

              ด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่ “สุดจะคาดเดา” เหล่านี้ ทำให้ประเทศญี่ปุ่นตอนนี้อยู่ในสถานะเตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์ที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยในแต่ละเมืองจะมีการกำหนดพื้นที่อพยพพร้อมคลังอาหารสำรองไว้เป็นจุดๆ และแต่ละจุดมีการประสานแจ้งเส้นทางและพื้นที่ที่ครอบคลุมเอาไว้ หากเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น การสื่อสารขาดหรือถนนหนทางขาด แต่ละคนก็จะรู้ว่าต้องหาทางมาถึงค่ายพักพิงให้ได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม ส่วนในด้านการจัดการก็จะมีการเตรียมพร้อมและตรวจเช็คได้ว่ามีใครเข้ามาพักพิงแล้วบ้าง อันเป็นแนวทางที่น่าสนใจในการเตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในบ้านเราได้เช่นเดียวกัน 

              การเตรียมการต่างๆ เหล่านี้ถูกปลูกฝังและฝึกฝนให้กับเด็กๆ ในพื้นที่ด้วยเช่นกัน เด็กประถมจะต้องถูกฝึกให้เดินทางมาโรงเรียนด้วยตนเองตั้งแต่ประถม 1 โดยมีสัญลักษณ์ “หมวกสีเหลือง” ให้คนในชุมชนได้รู้ว่าจะต้องช่วยกันดูแล แต่ก็เป็นการดูแลแบบเข้าใจในแนวทางการฝึกฝน ส่วนพ่อแม่นั้นถูกห้ามไม่ให้แม้แต่จะไปส่งที่โรงเรียน ซึ่งผิดกับที่เมืองไทยมาก เพราะเราคงคุ้นเคยกับภาพพ่อแม่เกาะรั้วดูเด็กๆ แล้วร้องไห้ร่ำลากันมากกว่า เมื่อการฝึกฝนตั้งแต่เยาว์วัยนั้นต่างกัน เติบโตมาจึงแตกต่าง แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็มาจากสภาพแวดล้อมและเรื่องราวที่หล่อหลอมให้คนแต่ละท้องถิ่นเติบโตและเข้มแข็ง หรือพลิ้วไหวต่างกัน 

    อาหารและพืชพันธุ์ก็เช่นกัน 

    เมื่อดินและน้ำแตกต่าง 

    พืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตที่เติบโตในแต่ละพื้นที่

    จึงมีรายละเอียดของรสชาติและความรู้สึกที่ส่งมอบมาให้ต่างกัน

              ญี่ปุ่นเป็นดินแดนที่ให้ความรู้สึกของการเคารพอาหารในฐานะผู้ส่งต่อพลังชีวิต ราวกับว่าความเชื่อมโยงเหล่านั้นแสดงผลให้เห็นประจักษ์ในทุกวัน จากดิน จากลม จากน้ำ จากท้องทะเล 

            “เคยได้ยินไหมคะว่า น้ำประปาญี่ปุ่นดื่มได้”  เสียงพี่แอร์บอกเล่าเรื่องราวความน่าประทับใจ  “ที่ดื่มได้ เพราะน้ำเราไหลมาจากต้นน้ำลำธาร น้ำที่ไหลคือน้ำที่สะอาด ถ้าน้ำนิ่งก็คือน้ำไม่สะอาด น้ำที่สะอาดจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างไป จะเหมือนว่าน้ำซึมเข้าสู่ร่างกายเราเร็วกว่า และเพราะแบบนั้นเมื่อนำมาชงชาหรือกาแฟก็จะได้รสชาติที่ดีกว่า” 

              เรื่องราวความลึกซึ้งของอาหารและน้ำที่นำเข้าสู่ร่างกายสะท้อนให้เห็นถึงความละเอียดลออ ความประณีตในการใช้ชีวิต เพราะทุกชีวิตต้องต่อด้วยชีวิต เมื่อมีหนึ่งชีวิตสูญเสียไปเพื่อต่อลมหายใจของอีกชีวิต ชีวิตที่สละแล้วนั้นจึงควรแก่ความเคารพ ไม่เว้นแม้จะเป็นชีวิตที่มีความซับซ้อนต่ำอย่างพืชหรือสัตว์เล็กๆ ก็เป็นหนึ่งชีวิตที่แลกมากับหนึ่งลมหายใจของเราผู้เป็นสัตว์เจริญในทรรศนะของเราเอง 

             บทสนทนาแรกกับพี่แอร์ จึงนำไปสู่การเรียนรู้จิตวิญญาณและตัวตนผ่าน “อาหาร” ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้และเป็นจริงที่สุด ที่จะทำให้มนุษย์นำตัวเองเข้ามาเชื่อมกับความจริงของธรรมชาติอีกครั้ง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป 

    อารยทริป จึงเป็นเส้นทางของการเดินทางย้อนกลับหาตัวตนของความเป็นเราในแต่ละภาค แต่ละท้องถิ่น ผ่านพืชพันธุ์ อาหารและการปรุงอาหารต่างวัฒนธรรม การถักทอผ้าและเส้นใยธรรมชาติจนเป็นเครื่องนุ่งห่ม การร่วมแรงร่วมใจกันสร้างสิ่งก่อสร้างอาคารสถานที่ เพื่อเป้าหมายและวัตถุประสงค์อันยิ่งใหญ่กว่าเพียงการมีชีวิตให้อยู่รอด เหล่านี้คือความเป็นอารยะที่มากกว่าเพียงคนเดียว แต่หมายถึง หมู่ พวก กลุ่ม เหล่า ที่มีความเหมือนมากกว่าความต่าง 

              จากทริปต่างแดนเชื่อมโยงกลับย้อนมาสู่บ้านเรา ดินแดนอันมากมายเรื่องราวของความเป็นอารยะ อารยะที่หมายถึงความเจริญที่มากกว่าวัตถุ หากแต่เป็นการเติบโตงอกงามอย่าง “จริงแท้” ภายในและภายนอกที่สอดคล้องและสมดุล แม้ตัวหนังสือ ภาพถ่ายและเรื่องเล่าอาจจะส่งผ่านความละมุนในใจจากการสัมผัสเรื่องราวเหล่านี้ได้เพียงเสี้ยว แต่การ “บันทึก” ก็เป็นหนึ่งในอารยธรรมที่กำลังจะหายไปเช่นกัน

              ในฐานะ “นักเขียน” คนหนึ่ง จึงขอใช้เวลาในแต่ละวันบันทึกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้เป็นส่วนเสี้ยวของ “อารยธาม” ...เวลาของการกลับมาซึ่งอารยธรรมอันล้ำค่า +




    เรื่อง  Writer :

    นาโน

    ภาพถ่าย Photography :

    พรรษา ภูชำนิ

    วินวัฒน์

    ภาพประกอบ Graphic Design :

    พรรษา ภูชำนิ

    ความคิดเห็น