ผ้าพันคอทอด้วยมือของฉัน

    เจ้

    เผยแพร่ 06 มีนาคม 2567

    ได้ฤกษ์งาม ยามดี กุมภาพันธ์ 2567 มีศรี มีดี มีแฮง ได้ติดสอยห้อยตามเพื่อนสายผ้า ไปเรียนรู้การทอผ้าแบบพื้นถิ่น บ้านแม่จันทร์ศรี ที่อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน 

    กว่าจะไปถึงก็ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเสียทีเดียว ก็แค่ตีรถไฟขึ้นสายเหนือ ลงลำพูน หารถจากสถานีรถไฟ ไปส่งท่ารถสองแถวสีฟ้าที่ตลาด เพื่อไปทุ่งหัวช้าง รถสองแถวสีฟ้าพาขึ้นเขา ลงเขา สลับกันไปเป็นเวลา 2 ชั่วโมง บอกว่าไปบ้านแม่จันทร์ศรี รถก็จอดส่งถึงที่หน้าบ้านพอดี ใครๆ ในละแวกนี้รู้จักแม่จันทร์ศรีกันทั้งนั้น

    ที่นี่เป็นชุมชนชาวไทยกระเหรี่ยงที่มีการทอฝ้าย ย้อมสีฟ้าธรรมชาติจากต้นฮ่อมที่ปลูกและก่อหม้อ (ภาชนะย้อมสีฮ่อม) กันขึ้นมาเองจากสูตรดั้งเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สีเทาดำจากต้นมะเกลือ และใช้กี่ทอผ้าแบบเป็นผืนหนังผูกเอว มีขนาดเล็กที่ยกไปทอที่ไหนก็ได้

    ไปถึงช่วงเที่ยง กว่าจะได้เริ่มเรียนก็ช่วงบ่าย เริ่มต้นจากค่อยๆ การยืนเส้น ก็คือการเรียงเส้นด้ายพันไปตามหลักไม้ วนไปมาเพื่อกำหนดความยาวและความกว้างของผืนผ้าที่จะทอ แน่นอนทุกอณูของเส้นด้ายผ่านการสัมผัสของมือผู้ทอ จากซ้ายไปขวา บนลงล่าง ทบกันไปมา อย่างมีสมาธิและตั้งใจเป็นอย่างดี

    แต่สำหรับผู้ทอที่ไม่มีความรู้เลย จึงเป็นการทำไปอย่างตั้งใจและเชื่องช้า ทุลักทุเล ขนาบข้างด้วยคุณแม่เดือนผู้ใจเย็น คุณครูสอนทอผ้าคนแรกของฉัน ที่แม่จันทร์ศรีส่งมาให้ประกบนักเรียนทอผ้าหัวไม่ไว มือใหม่ คนนี้

    วนผิด เรียงผิด ด้ายพันกัน ไม่เป็นไร เอาใหม่ ไม่ย่อท้อ เรียงเส้นด้ายจนเสร็จได้ความกว้างยาวที่ต้องการ จากนั้นแม่เดือนช่วยถอดเอาเส้นด้ายที่เรียงเสร็จจากหลักไม้ เข้ากี่ทอผ้าแบบผูกเอว ซึ่งมีไม้ไม่กี่ชิ้นสอดสลับกันไปมา เหมือนจะไม่ซับซ้อน แต่ก็ทำเอามือใหม่หัดทอ เวียนหัวไม่น้อย 

    การเริ่มทอผ้าจริง โดยนำกี่ที่มีความกว้างประมาณไหล่ ผู้ทอนั่งกับพื้น เหยียดขาสองข้างตรงข้างหน้า เป็นปลายด้านหนึ่ง ผูกไว้กับหลักในแนวนอนสูงระดับไหล่ขณะนั่งทอ ปลายกี่อีกด้านหนึ่งม้วนกับท่อนไม้ผูกติดไว้กับเอว ด้วยสายหนังคล้ายเข็มขัดผืนใหญ่ 

    กระสวยพันด้ายผ่านไปซ้ายขวาด้วยมือสอด เส้นด้ายแนวตั้งสลับขึ้นลงด้วยแรงมือยก และแผ่นไม้แบนหนาหน่อย ขนาดเลยความกว้างของผ้าออกมาเล็กน้อยไว้สำหรับจับ คั่นเส้นด้าย กระทบทอให้แน่น 

    กระบวนการของมือใหม่เป็นไปอย่างตั้งใจ ผิดบ้าง ถูกบ้าง แม่เดือนก็ใจเย็น คอยนั่งแนะนำอยู่ไม่ห่าง ทำให้ผืนผ้าน้อยๆ ค่อยๆ มีความยาวเพิ่มขึ้นทีละเส้น .. ทีละเส้น จนจบเย็นวันนั้น เมื่อสายตาไม่สู้แสง ม้วนพับเก็บไว้ ค่อยมาทอต่อวันรุ่งขึ้น เมื่อแสงตะวันกลับมาเยือนอีกในตอนเช้า

    เช้าวันรุ่งขึ้น กินข้าว กินน้ำพร้อมแล้ว ก็เริ่มทอกันต่อ ยังคงมีแม่เดือนอยู่เคียงข้าง คอยแนะนำอยู่ไม่ห่าง ความเร็วการทอจากประมาณ 2 เซนติเมตร ต่อชั่วโมง ก็เพิ่มขึ้นเป็น 3 เซนติเมตร ต่อชั่วโมงในวันรุ่งขึ้น  555555555 .. ก็ไม่แย่ (ชมตัวเอง) ถือว่ามีการพัฒนา ทอจนเสร็จในช่วงบ่ายของวันที่สองนี้
    แม่เดือนช่วยเอาผืนผ้าออกจากกี่ให้ ยังไม่เสร็จ เหลืออีกหนึ่งขั้นตอน คือการปั่นเก็บปลายด้ายทุกเส้น จับด้ายทีละ 4 เส้น ทำ 2 กระจุก จับพันเกลียวกับหน้าแข้ง ทีละ 8 เส้นเข้าด้วยกัน ทั้งสองปลายผืนผ้า พันไป ม้วนไป จนหมดทุกเส้นด้ายของปลายผ้า สำเร็จเป็นผ้าพันคอผืนแรก ทอด้วยมือตัวเองบ้าง แม่ช่วยบ้าง แต่ก็รู้สึกภูมิใจ และขอบคุณในความอดทนของคุณครูแม่เดือน และกลุ่มทอผ้าของคุณแม่จันทร์ศรี ที่ยังคงสานต่อภูมิปัญญานี้มาถึงคนรุ่นใหม่ ดีใจยังมีคนเข้ามาเรียนรู้กับบ้านแม่จันทร์ศรีอย่างต่อเนื่อง ทั้งคนไทย และต่างชาติ 

    ใครที่เป็นแฟนคลับผ้าฝ้ายทอสีธรรมชาติแม่จันทร์ศรี สามารถติดตามได้ทางสื่อต่างๆ แม่จันทร์ศรีมีชื่อเสียงไม่น้อย เพียงกดค้นหาในอินเตอร์เน็ตก็พบได้ หรืองานออกร้านผ้าทอประจำปี ที่ยังคงจัดกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ตามไปอุดหนุน ให้กำลังใจกันได้เลย

    ความคิดเห็น