เราได้มีโอกาสไปด่อมๆมองๆ ฐานอบรมจริยศิลป์ (ศิลปภาวนา) ของ อ.ผ่อง เซ่งกิ่ง หนึ่งในกิจกรรมการประชุมเชิงปฏิบัติการอำเภออารยเกษตร ระหว่างวันที่ 9-11 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พอเพียงพรรณา จ.นครราชสีมา
อ.ผ่อง เปิดกระบวนการโดยให้ผู้อบรม วาดภาพ ผัก ผลไม้จริงที่เตรียมให้ กติกาในการวาดคือ ไม่มองกระดาษและวาดโดยไม่ยกมือ (Contour drawing) และต้องทราบถึงกุญแจ 4 ดอกก่อน คือ
1. รู้เฉพาะหน้า
2. เห็นตามจริง
3. ทำตามนั้น
4. ทำสม่ำเสมอ ทำซ้ำๆ
หลัง contour drawing อ.ผ่อง ให้ผู้อบรมสะท้อนกันภายในกลุ่มว่า ก่อนวาด ระหว่างวาด และหลังวาดมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร จากนั้นจึงเข้าสู่กิจกรรมถัดไป คือ “เขียนลายตามครู” ผู้อบรมเลือกลายไทยโบราณที่อ.เตรียมมาเพื่อนำไปลอกลาย ลายไทยเหล่านี้เป็นลวดลายที่ปรากฏอยู่บนผนังวัดวาอาราม โบราณสถานต่างๆ เมื่อเสร็จมีการล้อมวงสะท้อน พูดคุย แลกเปลี่ยนกันว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกิจกรรมนี้ และท้ายสุดผลงานทั้งหมดถูกรวบรวมมาจัดเป็นนิทรรศการเพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสชื่นชม
อ. ผ่อง ใช้กิจกรรมจริยศิลป์เป็นสื่่อ ให้ผู้อบรม ได้หันกลับมาสังเกต ฟังเสียงข้างในใจตน และอยู่กับตัวเอง ณ ปัจจุบันขณะอย่างแท้จริง พวกเราส่วนใหญ่ละเลยความรู้สึกลึกๆ ที่อยู่ในตัวเราจากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบวุ่นวายในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความกังวล ความกลัว ความหงุดหงิด ไม่ถูกใจ พอใจ ไม่พอใจ ดีใจ สุข ทุกข์ ฯลฯ การวาดและการสะท้อนกันภายในกลุ่มจะช่วยกระตุ้นให้ผู้อบรมสังเกตเห็นรายละเอียดต่างๆ ทั้งภายนอกตัว และความรู้สึกข้างในได้ชัดเจนขึ้น หากฝึกบ่อยๆ เราจะมีความละเอียดละออกับสิ่งรอบตัว เราจะเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ อ. ยังหยิบเอาวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม อัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงเข้ากับผู้คนทั้งในระดับปัจเจกและระดับชุมชนได้อย่างแยบยล การให้ผู้วาดได้เรียนรู้ด้วยตนเองระหว่างที่ลงมือทำ ผู้วาดเกิดประสบการณ์ใหม่ รับรู้ถึงความรู้สึกของตน เกิดความสุข ชื่นชมตนเองว่าสามารถทำได้ ในขณะเดียวกันการจัดนิทรรศการก็เพื่อให้กลุ่มคนและชุมชนได้เห็น ตระหนักรู้ในความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมในชุมชนตน เกิดความรัก ความประทับใจ ภูมิ ใจ เห็นคุณค่าในรากเหง้า วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่บรรพบุรุษของตนได้สร้างมา ซึ่งจะนำไปสู่การรักษาและสืบทอดสิ่งเหล่านี้ต่อไป
เราว่า...ในช่วงเริ่มกิจกรรมน่าจะมีความรู้สึกมากมายผุดขึ้นในใจผู้อบรม เช่น วาดเพื่ออะไร? จะวาดได้หรือ? รูปจะออกมาแบบไหน? ไม่มองกระดาษจะวาดได้รึ? วาดไม่สวยเพื่อนจะหัวเราะมั๊ย? ฯลฯ
แต่มีครูบาอาจารย์เคยบอกไว้ว่า เมื่อคิดจะทำอะไรอย่ามัวแต่คิด เพราะความคิดจะลอยฟุ้งอยู่ในหัวเท่านั้น เราจะไม่เห็นผลจริงของมัน จนกว่าจะ “ลงมือทำ”
การลงมือทำ = ประสบการณ์ที่จะนำออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม (ผลลัพธ์จะออกมาเช่นไรไม่มีใครรู้ จนกว่าสิ่งที่ได้ทำไปจะเสร็จสิ้น)
หากเรา ละ วาง ความคิด ความกลัว การเปรียบเทียบ ความเชื่อต่างๆ ฯลฯ ไว้ชั่วครู่ และ "กล้า" ก้าวข้ามเส้นความคิดไปสู่การกระทำ มีสมาธิจดจ่อ ค่อยๆ สำรวจรายละเอียดอย่างถี่ถ้วน สมองสั่งการสู่มือ ผ่านปลายดินสอสู่ผืนกระดาษ ลากเส้นไปตามที่เห็นทีละนิด เมื่อสมอง ตา และ มือสัมพันธ์ ภาพที่วาดก็น่าจะมีรายละเอียดไม่ต่างจากที่ตามองเห็น แม้เส้นจะเอียง บูดเบี้ยว ออกนอกกรอบไปบ้าง มันก็คือธรรมชาติ คือความไม่สมบูรณ์แบบของสิ่งต่างๆ รวมถึงมนุษย์เช่นกัน และการทำอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราพัฒนาตนเองไปทีละน้อย เราจะเชื่อมั่นได้ว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพมากกว่าที่คิด
สำหรับเราแล้ว การลงมือทำคือการอยู่กับปัจจุบัน ไม่ใช่อดีตที่ผ่านไปแล้ว หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง เมื่อทำให้ดีที่สุด ณ ตอนนั้นๆ แล้ว ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ไม่ต้องกังวลอะไร
24.8.66