ต้นเดือนมีนาคมปีนี้ (2566) มีเวลาเดินทางไปอยู่ที่บ้านน้อยกลางป่าใหญ่ จ.ชุมพร หลายวัน ได้พูดคุยกับพ่อและได้เริ่มออกแบบพื้นที่ 31 ไร่ ที่ตั้งใจว่าจะสร้างเป็นกองหลังคลังอาหาร โดยจะค่อยๆ ทำเพื่อให้เป็นห้องเรียนของ “พึ่งตน เพื่อชาติ” ได้เรียนรู้ร่วมกัน ช่วยกันสร้างช่วยกันทำ
จากวันนั้นเวลาผ่านไปเกือบ 6 เดือน พื้นที่ผืนปาล์มกว้างใหญ่ ที่มีแต่ปาล์มกับปาล์ม ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก และเราได้เปิดห้องเรียนกันไปแล้วถึง 4 รุ่น แต่ละรุ่นพ่อ (ลุงกำนันเคว็ด) ก็จะจัดเตรียมวิชาที่เรียนให้เหมาะกับคนที่ไป จากรอบแรกที่พ่อประเมินไว้สูง พ่อก็ค่อยๆ ปรับตัวเลือกวิชาที่เหมาะกับเรามากขึ้นเรื่อยๆ
พื้นดินก็เปลี่ยนแปลงไป เหมือนกับภาพฝันเช่นกัน
พวกเราพึ่งตน เพื่อชาติ และใครอีกหลายๆ คนก็คงมีความฝันเหมือนๆ กันคืออยากจะมีที่สักแปลงหนึ่ง ที่ไว้ใช้ชีวิตร่มเย็นอยู่กับตัวเองง่ายๆ ในเวลาที่ร่างกายเริ่มร่วงโรย แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อเส้นทางก่อนหน้าที่ใช้ชีวิตมาไม่ได้ปูทางไว้ให้ได้ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างร่มเย็น แต่กลับเป็นทางที่ให้ใช้สมองมากกว่าแรงกาย และมุ่งมั่นเอาชนะคะคานให้ได้มาด้วยวิถีการแข่งขัน
เราจะปรับเปลี่ยนตัวเองได้มั้ย นั่นล่ะ ความท้าทาย
ห้องเรียนที่ 1 พ่อสอนเรื่อง “การวัดระยะ”
โจทย์ที่เหมือนจะง่าย เราจะวัดระยะเพื่อวางเส้นทางน้ำได้อย่างไร ให้ตรงทาง ให้เท่ากัน เพื่อไม่ให้ลำเอียงกับต้นไม้ที่จะได้น้ำ เพราะพ่อเลือกใช้การวางระบบน้ำด้วยท่อ เพราะเป้าหมายคือ “ไร่นี้ต้องคืนทุนใน 5 ปี” เพื่อให้คนที่ก้าวเข้ามาในเส้นทางสายนี้ด้วยทุนก้อนสุดท้ายไม่ล่มสลายไปเสียก่อน
ท่อจะตรงได้ต้องวัด แต่…แต่ทางมันยาวมาก จะวัดยังไง
ต้องเล็ง เล็งยังไงให้ได้เส้นทางที่ตรงกัน
จริตของเราก็ เล็งไปข้างหน้า ทีละ 1 จุด พ่อบอกว่า ไม่มีทางที่จะตรง ถ้าเล็งทีละจุด ต้องเล็ง "หัวแถวกับปลายแถว" ให้ตรงกันเสียก่อน โดยใช้ท่อน้ำสีฟ้าเป็นแนวแล้วเอา “ตา” เราเนี่ยแหละไปจ่อที่ปลายท่อ เพื่อมองให้เห็น “ตีน” ของคนที่อยู่ปลายทาง เมื่อตากับตีนชนกันเมื่อนั้นก็ตรง
เชื่อไหมว่า เรื่องง่ายๆ แต่ก็ทำกันไม่ได้ มองไปยังไงก็ไม่ตรง เพราะ “ไม่ยอม”
ไอ้ความไม่ยอมนี้มันมาพร้อมกับความคนเมือง
ความไม่ยอมพร้อมความดื้อดึง และความเอาแต่ใจ อยากได้สำเร็จ อยากกเสร็จเร็ว อยากเอาชนะ
พ่อกำนัน “ข่ม” กิเลสเราด้วยห้องเรียนเรื่องง่ายๆ เพราะพ่อรู้ว่า สิ่งที่จะสอนเราได้ไม่ใช่ให้เราไปให้ถึงเป้าหมาย แต่ให้เรารู้จัก “เข้าใจ” เข้าใจธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ เข้าใจตัวเองและ “ยอม” “ยอมที่จะยอม”
บทเรียนที่ 1 ของ การเดินทางเรียนรู้ไปกับ บ้านน้อยกองหลังคลังอาหาร
(ห้องเรียนที่ 1 มิถุนายน 2566)
บันทึกการเดินทางของกองหลังคลังอาหาร
ความคิดเห็น
×