อำเภออารยเกษตร ก้าวที่เริ่ม ของลุ่มนำ้ปิง ณ จอมทอง

              นับจากเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๖ วันที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐ ให้เป็น ๑ ใน ๖ อำเภออารยเกษตรนำร่องของประเทศ                               

              จนถึงวันนี้ วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๖ ก้าวที่เริ่มการขับเคลื่อนชุมชนอย่างยั่งยืนตามแนวทางอารยเกษตรของลุ่มนํ้าปิงได้เกิดขึ้นด้วย ความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องชาวอำเภอจอมทอง นำโดยนายยุทธพงศ์ ไชยศร นายอำเภอจอมทอง และภาคีเครือข่ายท้องถิ่นทุกภาคส่วน นำทีมเข้าสู่พื้นที่แปลงของนายสมคิด แก้วแสนซาว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองคัน ตำบลแม่สอย อำเภอจอมทอง เพื่อเปิดประชาคมกับชาวบ้านและภาคีเครือข่ายในชุมชน ให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ “อารยเกษตร” และการขับเคลื่อนชุมชนแบบ “อำเภออารยเกษตร” ตามแนวทางพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ โดยน้อมนำองค์ความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ ๙    มาศึกษาและลงมือปฏิบัติเพื่อความสุขอันยั่งยืนของพี่น้องประชาชน 

    โดยมีเป้าหมายในการมุ่งแก้ปัญหาหลักอันเกิดขึ้นในชุมชน 5 ด้าน คือ

    • ด้านปากท้องและหนี้สิน
    • ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    • ด้านสุขภาพ
    • ด้านการศึกษา
    • ด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด

          เนื่องจากพื้นที่อำเภอจอมทองเป็นพื้นที่สูง มีลักษณะภูมิประเทศอันได้รับ ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาหลัก ดังนั้นทีมอำเภอและชาวบ้านในชุมชนจึงมีมติที่จะดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นแรก ซึ่งจากการลงมือปฏิบัติการแก้ไขปัญหาในด้านนี้ก็จะส่งผลเชื่อมโยงมาช่วยแก้ไขปัญหา     ในด้านอื่นๆอีกทั้ง 4 ด้านเช่นกัน

     

            หลังจากนั้นทีมสนับสนุนจากเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติและพึ่งตน เพื่อชาติ ภาคเหนือ รวมถึงทีมงานจากโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ บ้านดงเย็น ต.บ้านแปะ อ.จอมทอง นำโดยท่าน อภิวีโรภิกขุ (ครูบาจ๊อก) จากศูนย์การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียง วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมสำรวจพื้นที่แปลงนายสมคิด อันเป็นสวนลำใยผสมสวนมะม่วง     ซึ่งมีพื้นที่ทั้งสิ้น 6 ไร่ และมีเจตจำนงต้องการทำปรับเป็นพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการนำ้แบบโคก หนอง นา และการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ จำนวน 2 ไร่ เพื่อให้เป็นโมเดลตัวอย่างของการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนนำ้ในฤดูแล้ง และปัญหานำ้ท่วมหลากในฤดูมรสุมอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชน

             จากการสำรวจพื้นที่ในเบื้องต้น มีเนื้องานที่ต้องเริ่มดำเนินการในขั้นแรก โดยเริ่มแบบเล็ก แคบ ชัด  จากพื้นที่ 2 ไร่ แปลงนายสมคิด และชุมชนบ้านหนองคัน ได้แก่

    • ทีมพัฒนาชุมชนอำเภอจอมทอง จะประสานงานกับพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) บ้านหนองคัน เพื่อเปิดรับสมัครชาวบ้านที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการอำเภออารยเกษตร เพื่อให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาชุมชนทั้ง 5 ด้าน
    • ทีมสาธารณสุขอำเภอจอมทอง รวบรวมข้อมูลปัจจุบันด้านสุขภาพ และสถิติการเป็นโรคต่างๆของชุมชนบ้านหนองคัน เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบก่อนการเข้าสู่การขับเคลื่อนชุมชนตามโครงการอำเภออารยเกษตร
    • ทีมพัฒนาที่ดินอำเภอจอมทอง จะเข้าตรวจวัดค่าเคมีในผืนดินแปลงของนายสมคิด เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลเปรียบเทียบก่อนปรับพื้นที่แปลงตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ
    • ทีมอำเภอฯ, ทีมสนับสนุน, นายสมคิด เจ้าของแปลง และชาวบ้านที่สนใจ จะเข้าเตรียมงานและออกแบบการบริหารจัดการนำ้ในพื้นที่

     

               ภายหลังจากที่ได้ข้อตกลงร่วมกันจากทุกภาคีเครือข่ายและเจ้าของแปลง นายยุทธพงศ์ ไชยศร นายอำเภอจอมทอง ได้ประกาศกำหนดวันเอามื้อสามัคคี เปิดโคก หนอง นา ป่าลำใย ณ แปลงของนายสมคิด แก้วแสนซาว บ้านหนองคัน ต.แม่สอย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

                ในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๖๖ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐ น. - ๑๖.๓๐ น.  

    โดยมีเนื้องานหลักในการเอามื้อสามัคคี ดังนี้

    • ทำฝายปูนในลำห้วยที่แห้งเหนือแปลง เพื่อชะลอและกักเก็บนำ้ไว้ในยามที่ฝนตกและมีนำ้ลงมาในห้วย
    • ขุดคลองไส้ไก่และหลุมขนมครก เพื่อชะลอ, กักเก็บนำ้ ให้ความชุ่มชื้นแก่ดินในบริเวณเพาะปลูก 
    • ปลูกป่า 3 อย่าง 

     

               การเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ จะเป็นกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้ เรื่องการบริหารจัดการนำ้ในรูปแบบโคก หนอง นา และการทำแปลงตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ อันจะรวบรวมทฤษฎีในเรื่อง ดิน นำ้ ป่า คน ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เอาไว้ไม่น้อยกว่า 15 ทฤษฎี

                          🌱🌱🌱🌳🌳🌳🌴🌴🌴

     

    ความคิดเห็น